วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทที่ 4-5


บทที่ 4
ผลการศึกษาค้นคว้า

การศึกษาเรื่อง ศิลปะพื้นเมืองแบ่งเป็น 9 ตอน ดังนี้ตอนที่ 1 ศิลปะพื้นบ้านภาคกลาง ตอนที่ 2 ศิลปะพื้นบ้านภาคเหนือ ตอนที่ 3 ศิลปะพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตอนที่ 4 ศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ ผลการศึกษาสามารถนำเสนอได้ดังนี้
ตอนที่ 1 ศิลปะพื้นบ้านภาคกลาง
                1.1เครื่องจักสาน
                ภาคกลางมีพื้นที่กว้างขวางและอุดมสมบูรณ์มากกว่าภาคอื่นๆ มีวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำเครื่องจักสานหลายชนิด และเครื่องจักสานภาคกลางส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์ท้องถิ่นและขนบประเพณีของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างดี

              ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภาคกลางทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ที่ดินส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตร จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้จักสานหลายชนิด โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง ซึ่งเป็นที่โล่งประชาชนนิยมปลูกไม้ไผ่ไว้ตามบริเวณหมู่บ้านและตามหัวไร่ปลายนา และนอกจากนี้ในบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี ลงไปจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีภูเขาตะนาวศรีเป็นแนวเขาที่มีป่าไม้ไผ่อยู่เป็นจำนวนมาก จากลักษณะดังกล่าวทำให้บริเวณภาคกลางมีการทำเครื่องจักสานอย่างแพร่หลาย  แต่ก็มีเครื่องจักสานส่วนที่ทำด้วยวัตถุดิบอย่างอื่นบ้าง ได้แก่ ใบลาน ใบตาล หวาย ผักตบชวา เป็นต้น
            ลักษณะภูมิประเทศของภาคกลางดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องจักสานในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ขนบประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่น ก็เป็นเครื่องกำหนดรูปแบบของเครื่องจักสานด้วย
                                 เครื่องจักสานภาคกลางส่วนมากทำจากไม้ไผ่มากกว่าวัสดุอื่น ซึ่งแบ่งออกตามหน้าที่ใช้สอยเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
         เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นภาชนะ  ได้แก่กระบุง กระจาด กระทาย กระบา กระทอ กระพ้อม กระเชอ กระเช้า กระพอก ชะลอม ตะกร้อ ปุ้งกี๋ หลัว ตะกร้า เข่ง ฯลฯ
         เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องตวง  ได้แก่กระชุ สัด กระบุง ฯลฯ
         เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้ในครัวเรือน  ได้แก่พัด กระชอน ตะแกรง ฝาชี กระด้ง หวด ฯลฯ
         เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องประกอบอาคารบ้านเรือน  ได้แก่ ฝาบ้าน พื้นบ้าน หลังคา ฯลฯ
         เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องจับดักสัตว์และขังสัตว์น้ำ  ได้แก่ ชนาง ลอบ สุ่ม ไซ กระบัง กระจู้ กระชัง ตะข้อง ตะแกรง จั่น ฯลฯ
         เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องใช้อื่นๆเช่น  เสื่อลำแพน  แผงรั้ว กรงนก สุ่มไก่ เป็นต้น
        นอกจากเครื่องจักสานไม้ไผ่ซึ่งเป็นเครื่องจักสานที่ทำกันแพร่หลายแล้ว ในภาคกลางยังมีเครื่องจักสานที่ทำจากวัสดุอื่นๆ อีก ได้แก่ หวาย ใบลาน ใบตาล เป็นต้น
        เครื่องจักสานหวายของภาคกลาง ได้แก่ตะกร้าหิ้ว กระชุกสำหรับใส่หมู  เป็นต้น
        เครื่องจักสานใบลานและใบตาลของภาคกลาง ได้แก่ ปลาตะเพียนสาน งอบ หมวก เครื่องเล่นเด็กต่างๆ เป็นต้น
        อย่างไรก็ตาม นอกจากเครื่องจักสานภาคกลางที่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นแล้ว เครื่องจักสานพื้นบ้านภาคกลางยังมีรูปแบบเฉพาะถิ่นที่แตกต่างไปจากเครื่องจักสานภาคอื่นอีกหลายอย่างเช่น เครื่องจักสานที่ใช้จับดักสัตว์น้ำ ที่มีรูปร่างตามสภาพภูมิประเทศ เช่น เครื่องจักสานที่ใช้ในแม่น้ำ จะมีขนาดสูงใหญ่อย่างกระชังเลี้ยงปลาตามแม่น้ำ มีขนาดใหญ่ สานด้วยไม้ไผ่กว้างประมาณ ๑-๒ วา ยาวประมาณ ๒-๓ วา สานเป็นสี่เหลี่ยมหรือรูปไข่ มีฝาหรือไม่มีฝาก็ได้  ใช้ลอยในแม่น้ำลำคลอง โดยมีแพไม้ไผ่หรือลูกบวบไม้ไผ่เป็นทุ่นขนาบไม่ให้กระชังจม กระชังชนิดนี้ใช้เลี้ยงปลาจำพวกปลาสวาย ปลาเทโพ และปลาบู่ เป็นต้น ถ้าเป็นกระชังขนาดเล็กกว่านี้จะใช้ขังปลาที่จับได้เอาไว้ขายหรือบริโภคนานๆ นอกจากกระชังแล้วยังมีเครื่องจักสานจำพวก ลอบ ไซ ที่ใช้ดักจับสัตว์น้ำตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง มักมีขนาดสูงใหญ่ตามความลึกความตื้นของแม่น้ำลำ คลองที่ใช้เครื่องดักจับสัตว์น้ำนั้นๆ เช่น ลอบยืน ขนาดใหญ่ใช้สำหรับดักปลาตามริมแม่น้ำลำคลองมักจะสูงมาก ถ้าเป็นไซ อีจู้ สำหรับดักกุ้งตามลำคลองและทุ่งนา จะมีขนาดเล็กกว่า
         นอกเหนือจากเครื่องมือที่ใช้ในการจับและดักสัตว์น้ำแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในครัวเรือนอีกหลายชนิด และแต่ละชนิดจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปตามประโยชน์ใช้สอย เช่นตะกร้าหิ้ว ที่ใช้กันในบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง จะมีรูปร่างกลมรีหรือกลม ปากกว้าง ก้นสอบ ขอบจะถักด้วยวายเป็นลายสันปลาช่อน ด้านบนมีหูหิ้วทำด้วยหวายหรือไม้ไผ่ และถักหุ้มด้วยหวาย ก้นตะกร้ามักเข้าขอบด้วยหวายและมีฐานไม้ไผ่รองรับเพื่อความคงทน ส่วนตัวตะกร้าจะสานด้วยตอกไม้ไผ่เป็นลายเฉลว รูปแบบของตะกร้าหิ้วภาคกลางนี้มีความงดงามที่เหมาะเจาะลงตัว นับได้ว่าเป็นเครื่องจักสานที่ประณีตงดงามอย่างหนึ่ง
         ตะกร้าหิ้วภาคกลาง  มีรูปร่างและขนาดตลอดจนลวดลายในการสานแตกต่างกันไปบ้างตามความนิยมของท้องถิ่น และประโยชน์ใช้สอยเช่น ตะกร้าหิ้ว บริเวณจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี สุพรรณบุรี นั้นนิยมใช้ตะกร้าหิ้วรูปไข่ มีหูหิ้วข้างบน ใช้ประโยชน์หลายอย่างเช่น ใช้เป็นตะกร้าหมากหรือเชี่ยนหมากของคนชรา ใช้ใส่อาหารไปทำบุญที่วัด ใช้เป็นตะกร้าสำหรับใส่ของติดตัวเดินทางไปตามที่ต่างๆ จึงมักจะสานอย่างประณีตงดงามเป็นพิเศษ แต่ถ้าเป็นตะกร้าผลไม้ของชาวสวนแถบจังหวัดนนทบุรีฉะเชิงเทรา จะมีลักษณะแข็งแรงและสานหยาบๆแสดงให้เห็นว่ารูปแบบของเครื่องจักสานส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ ส่วนความประณีตงดงามจะเป็นสิ่งรองลงไป
        เครื่องจักสานภาคกลางที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ งอบ ซึ่งเป็นเครื่องสวมศีรษะที่ชาวบ้านใส่ออกไปทำงานกลางทุ่ง ตามท้องไร่ท้องนางอบเป็นเครื่องจักสานประเภทเครื่องสวมศีรษะที่มีรูปแบบและประโยชน์ที่ใช้สอยสมบูรณ์อย่างหนึ่งดังที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้มีลายพระหัตถ์ไปทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๘๐ ในหนังสือสาส์นสมเด็จว่า "ครั้งไปเที่ยวขุดอ้ายพังๆ ที่กรุงเก่าเพื่อดูอะไรเล่น เกล้ากระหม่อมไปเป็นลม พิจารณาหาเหตุก็เห็นว่าคงเป็นเพราะด้วยใส่หมวกสักหลาดมันเป็นหมวกสำหรับเมืองหนาวโดยปราศจากให้ไอร้อนที่ออกจากหัวขังอยู่อบหัวให้มีความสุข เอามาใช้เมืองเราผิดประเทศจึงทำเจ็บสังเกตเห็นแม่ค้าชาวเรือเขาใส่งอบเที่ยวไปกลางแดดวันยังค่ำ ดูเขายิ้มแย้มแจ่มใสดีนึกดูเห็นเหตุว่าเพราะงอบไม่ได้ครอบคลุมหุ้มศีรษะมีลมพัดผ่านรังงอบไปได้ จึงซื้องอบไว้ใส่ไปเที่ยว ตั้งแต่นั้นก็ไม่เป็นลมอีกเลย..." จากลายพระหัตถ์นี้แสดงให้เห็นว่า งอบเป็นเครื่องจักสานที่มีประโยชน์ใช้สอยสมบูรณ์อย่างยิ่งชนิดหนึ่งของไทย ยังมีทำกันมากที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
          เครื่องจักสานภาคกลางที่ควรกล่าวถึงอีกชนิดหนึ่งคือ กระบุง ซึ่งมีลักษณะการใช้เช่นเดียวกันกับบุงหรือเปี้ยดของภาคเหนือ แต่กระบุงภาคกลางจะมีรูปแบบบางอย่างที่แตกต่างกันไปจากกระบุงภาคเหนือคือ ก้นจะสานเป็นเหลี่ยมขึ้นมาสูงประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของกระบุงและมักมีหวายหรือไม้ไผ่เข้าขอบประกบมุมทำให้กระบุงภาคกลางมีลักษณะเป็นเหลี่ยมมากกว่าและส่วนมากกระบุงภาคกลางมีขนาดใหญ่ ทั้งนี้อาจจะมีเหตุมาจากสภาพพื้นที่ของภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบ จึงสามารถหาบกระบุงที่มีน้ำหนักมากได้และเหตุที่กระบุงภาคกลางมีส่วนก้นเป็นเหลี่ยมมากก็คงเพื่อประโยชน์ในการตั้งในที่ราบได้ดีนั่นเองกระบุงภาคกลางใช้ใส่ข้าวของหาบไปตามท้องไร่ท้องนาได้สารพัด เช่น ใส่เมล็ดข้าว ถั่ว งา จนถึงสิ่งของอื่นๆ ที่ต้องใช้ใส่ในภาชนะที่ผิวทึบตันแต่ถ้าเป็นพวกสิ่งของหรือพืชผลที่มีขนาดใหญ่เช่น ผลแตงโม แตงไทย แตงกวา หรือมะพร้าวมักใส่เข่ง หรือ หลัว ซึ่งเป็นภาชนะจักสานสำหรับบรรจุของใหญ่ที่สานให้อากาศผ่านได้และเป็นภาชนะจักสานของภาคกลางอีกชนิดหนึ่งสานด้วยไม้ไผ่สีสุกและไม้รวก มีทำกันมากในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี ใช้ใส่พืชผักและผลไม้บรรทุกรถยนต์ไปขายตามที่ต่างๆ เครื่องจักสานอีกชนิดหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็น
           เครื่องจักสานที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นของภาคกลางคือปลาตะเพียนสาน สำหรับแขวนไว้เหนือเปลเด็กสานด้วยใบลานหรือใบตาล สานเป็นรูปปลาตะเพียนตัวใหญ่ตัวหนึ่ง มีลูกปลาตัวเล็กๆ ห้อยเป็นพวงอยู่ข้างล่าง รูปร่างลักษณะของปลาตะเพียนเลียนแบบมาจากปลาตะเพียนจริงๆ นอกจากนี้ยังมีเครื่องเล่นเด็กที่สานขึ้นจากใบไม้จำพวกใบลาน ใบตาล อีกหลายอย่าง ได้แก่ สานเป็นกำไลข้อมือ หมวก ตั๊กแตน และกุ้ง เป็นต้น                                   
          ปลาตะเพียนสานเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวชนบทที่มีมาแต่โบราณ การแขวนปลาตะเพียนสานไว้เหนือเปล จะต้องแขวนให้พอดีกับระดับที่เด็กมองเห็นได้ตรงๆ ไม่ค่อนไปทางหัวนอน หรือค่อนไปทางปลายเท้า จะทำให้เด็กตาไม่ปกติได้หากเด็กมองปลาตะเพียนสานเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ คนโบราณยังเชื่อว่าถ้าแขวนปลาตะเพียนไปทางหัวนอนมากจะทำให้เด็กตาช้อนขึ้นเพราะถูกแม่ซื้อมากวน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของคนไทยในอดีต และแม้ในปัจจุบันนี้ชาวชนบทก็ยังนิยมเลี้ยงเด็กให้นอนในเปลไม้ไผ่ที่แกว่งไกวได้อยู่ แต่การใช้ปลาตะเพียนใบลานแขวนดูจะลดน้อยไปมาก การทำปลาตะเพียนสานในปัจจุบัน  มีทำที่อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ใช้แขวนไว้ดูเล่นเป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านมากกว่าใช้แขวนเหนือเปลเด็ก และปลาตะเพียนสานในปัจจุบัน นิยมตกแต่งระบายสีให้มีสีสันสวยงามสะดุดตามากกว่าที่จะเป็นสีของใบลานหรือใบตาลแท้ๆ ซึ่งเป็นการประยุกต์รูปแบบให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
         อย่างไรก็ตาม เครื่องจักสานภาคกลางชนิดต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่ามีรูปแบบและลักษณะเฉพาะถิ่นที่ต่างไปจากเครื่องจักสานภาคอื่นๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากองค์ประกอบแวดล้อมทางสภาพภูมิศาสตร์ ประโยชน์ใช้สอย ขนบประเพณีและความเชื่อของท้องถิ่น ปัจจุบันเครื่องจักสานยังเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวชนบทจำนวนมาก แต่เครื่องจักสานจำนวนไม่น้อยได้รับการประยุกต์รูปแบบให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมของท้องถิ่น แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่น่าสนใจหลายอย่าง
1.2 มีดอรัญญิก
      ความรู้เรื่องเหล็กและเทคโนโลยีในการถลุงเหล็กแยกเหล็กจากแร่ธรรมชาติจนสามารถนำมาหล่อหรือตีขึ้นรูปเป็นเครื่องใช้ไม้สอยบรรพบุรุษของมนุษย์เราได้ใช้การฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตทำอาวุธล่าสัตว์หาอาหาร ปลูกพืช ตัดไม้ ทำที่อยู่อาศัยปกป้องตนเองและเผ่าพันธุ์ให้รอดพ้นจากศัตรูนานาชนิดตลอดจนใช้ในการรักษาเอกราชอธิปไตยของบ้านเมืองตลอดมา ดังเช่นประเทศไทยในปัจจุบันจากประวัติศาสตร์ชาติไทย ชาวไทยตั้งแต่สมัยบรรพกาล กรุงสุโขทัยกรุงศรีอยุธยา ล้วนได้ใช้อาวุธที่เกิดจากเทคโนโลยีที่มีอยู่นี้รักษาบ้านเมืองให้รอดมาเพื่อให้พวกเราได้อยู่เย็นเป็นสุขจนทุกวันนี้
      ชาวบ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ได้สะสมเทคโนโลยีการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็กมาตั้งแต่อดีตแต่ผลผลิตที่ออกมาจากคนไทยกลุ่มนี้กลับเรียกว่า มีดอรัญญิก หรือของอรัญญิก
      ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวท่าช้าง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2519 เพื่อให้ขวัญกำลังใจและพระราชทานดำริให้ทำเป็นตัวอย่างและเริ่มต้นทำในสิ่งที่จะดำรงเทคโนโลยีการทำมีดอรัญญิก อันเป็นสมบัติและเอกลักษณ์ไทยให้พัฒนาและคงอยู่ตลอดไป
      ชาวตำบลท่าช้างกลุ่มนี้ เดิมเป็นชาวเวียงจันทร์และได้อพยพเข้ามาพร้อมกับนำเทคโนโลยีการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากเหล็ก (มักเรียกรวม ๆ กันว่าตีมีด) และส่วนหนึ่งเป็นช่างทองรูปพรรณ เล่าต่อ ๆ มาว่า มีช้าง 2 เชือกสำหรับขนสัมภาระร่วมขบวนมาด้วย มีหลักฐานสำคัญของต้นตระกูลชาวหนองไผ่ที่เป็นวัตถุสามารถสืบย้อนอดีตไปได้ คือ มีดดาบนายบัญญัติ คำศรีผู้มีศักดิ์เป็นเหลนทวดของขุนนราบริรักษ์ ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาเป็นสมบัติของตระกูลคือ ดาบขนาดเหมาะมือมีลักษณะสวยงามมาก ฝักและด้ามประดับด้วยทองคำสลักลายนูนเฉพาะด้ามที่จับถักหุ้มด้วยลวดเงิน ทำให้เกิดผิวสากจับได้กระชับมือ ไม่ลื่นไถลสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นที่ทำขึ้นมาใช้งานจริง ๆ และใช้แสดงตำแหน่งยศด้วยชาวเวียงจันทร์กลุ่มนี้ได้อพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2365 สาเหตุเนื่องจากเวียงจันทร์ขณะนั้นเกิดการทำมาหากินอัตคัดขาดแคลนโจรผู้ร้ายชุกชุม
      สมเด็จพระมาตุฉา พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรการทำมีดของชาวบ้านหนองไผ่ที่วัดมเหยงค์ครั้งหนึ่งในเวลาต่อมา หลวงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่นายเทา ซึ่งเป็นต้นตระกูลพันธุ์หนอง อดีตหัวหน้าผู้อพยพจากเวียงจันทร์และเป็นหัวหน้าหมู่บ้านขณะนั้นเป็นขุนนราบริรักษ์ ด้วยความที่สามารถดูแลปกครองลูกบ้านให้อยู่ในจารีตประเพณีอันดีงามมีความสามัคคีปรองดองและเคารพต่อกฎของบ้านเมือง
                ลักษณะเด่นของมีดอรัญญิก มีดอรัญญิกมีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีดมีความเป็นเลิศมีความทนทานใช้การได้นานนับเป็นปี ๆ บางชนิดใช้งานได้ตลอดชีวิตของผู้ใช้และมีความสวยงามประณีต มีรอบตีทำให้เหล็กแน่นแข็งแรง ตัวมีดคมบางใช้เหล็กอย่างดีทำให้คมมีดไม่แตกหรือบิ่น ด้ามมีดแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ด้ามไม้ใช้ไม้อย่างดีบางด้ามมีการฝังมุกให้สวยงาม ที่สำคัญคือตราที่ประทับบนตัวมีดแสดงให้เห็นว่าเป็นมีดอรัญญิกแท้
      ปัจจุบันนี้มีดที่ใช้เครื่องมือไฟฟ้า จะทำให้มีดมีความประณีตมาก ตกแต่งลวดลายได้สวยงามดีบางรายมีแท่นปั้นรูปมีดจะทำให้รูปมีดมีขนาดเท่า ๆ กัน และเหมือนกัน
      ในสมัยก่อนการทำมีดต้องอาศัยคนงานหลายคน เช่น คนตีพะเนิน จะต้องฝึกหัดกันมาเป็นอย่างดีจะต้องรู้ว่ามีดรูปไหนควรตีตรงไหนและจะต้องคอยฟังสัญญาณการใช้เสียงของผู้จับเหล็กนี้ ตามภาษาชาวบ้านเรียกว่าหน้าเตาซึ่งจะต้องเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับการทำมีดเป็นอย่างดีเยี่ยม
      สถานที่ใช้ในการทำงานบริเวณหมู่บ้านตีมีดเกือบทั้งตำบลท่าช้างจะมีลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่แบบขนานไปกับสองฟากฝั่งของแม่น้ำป่าสักแต่ละหลังจะปลูกบ้านแบบใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำที่อาจจะเอ่อล้นสองฟากฝั่งแม่น้ำขึ้นมาท่วมบ้านเรือนได้การตีมีดของชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้บริเวณใต้ถุนบ้านเป็นที่ประกอบการทำมีดตั้งแต่การปัดมีดคม ไล่มีด การลับมีด ยกเว้นการเผาเหล็กให้ร้อนแดงส่วนมากชาวบ้านจะสร้างเป็นโรงเรือนเล็ก ๆ ต่างหากเพื่อป้องกันอัคคีภัยที่จะเกิดขึ้นมาได้ถึงแม้บริเวณใต้ถุนของชาวบ้านจะสูงโปร่งก็ตามแต่ลักษณะของงานที่ต้องใกล้กับความร้อนจากเตาเผาเหล็ก
1.3 โอ่งมังกร
               
"โอ่งมังกร"สัญญาลักษณ์โดดเด่นอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดราชบุรี ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านที่คนราชบุรีภาคภูมิใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคำขวัญ"เมืองโอ่งมังกร"
                จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ท่านว่าสมัยก่อนโอ่งที่ใช้กักเก็บน้ำชั้นดี
  ต้องนำเข้ามาจากประเทศจีนทั้งนั้น  แต่เนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาสินค้าจากต่างประเทศหลายอย่างไม่สามารถนำเข้าประเทศได้จึงจำเป็นต้องผลิตกันเองและถ้าย้อนอดีตจากคำบอกเล่าของลูกหลาน ทายาทเจ้าของโรงโอ่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 นายซ่งฮง แซ่เตียและนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่ จ.ราชบุรีและเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง"เถ้าแซไถ่"และโรงโอ่ง"เถ้าฮงไถ่"ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมา"โอ่งราชบุรีทำไมต้องมีลายมังกร"
แต่เดิมที่ทำกันเป็นโอ่งที่ไม่มีลวดลายใดๆเรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" จากการที่ต้นกำเนิดโอ่งมาจากชายจีน 2 ท่านดังกล่าวเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วลูกหลานจึงได้คัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคลขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้ นอกเหนือจากการพัฒนาคิดหาความงดงามเพียงอย่างเดียว แน่นอนในที่สุดก็เลือกสรรลวดลาย"มังกร"ขึ้น ตามคติความเชื่อในวัฒนธรรมของจีน
                มังกร(Dragon) เป็นสัตว์ชั้นสูง ในแต่ละประเทศก็จะมีตำนานของตัวเอง แล้วแต่ความเชื่อบ้านเราเรียกว่า "พญานาค" จะผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างก็คงเป็นที่รูปร่าง หน้าตา ชื่อ และความเชื่อ มีหนังสือตำราพิชัยสงครามกล่าวถึง มังกร ในการจัดขบวนทัพข้ามน้ำเรียกว่า "มังกรพยุหะ" มีการเขียนรูปมังกร คล้ายพญานาค เพียงแต่เพิ่มเขาและเท้าเข้าไป บางตัวมีเกล็ด บางตัวมีลายแบบงู
               
ลักษณะของมังกรโดยทั่วไปในลวดลายของโอ่งลายมังกรจะมีเพียง 3 เล็บ หรือ 4 เล็บ  แต่ถ้าเป็นมังกร สัญญลักษณ์ชั้นสูง ของกษัตริย์ หรือฮองเต้ จะมี 5 เล็บ เมื่อกล่าวถึง"มังกร"ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เป็นมงคล  เป็นความยิ่งใหญ่ จึงได้มีการวาดโอ่งลวดลายมังกร  เพื่อเป็นศิริมงคลความชื่นชมชื่นชอบของผู้ใช้
               
แต่ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดาย  โลกเปลี่ยนแปลงไป  ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนั้น นำความเจริญของวัตถุนิยม  ทุนนิยมความไม่สะดวก หรือ จะเชยล้าสมัย ตามคำกล่าวอ้าง  จะมีซักกี่บ้านกี่เรือนในปัจจุบันที่ยังนิยมใช้โอ่งลายมังกร ไว้เป็นภาชนะเก็บกักน้ำแม้ว่าลูกหลาน  ทายาทของผู้เฒ่าจีนเหล่านั้น  พยายามเปลี่ยนแปลง พัฒนา รูปแบบจากดินเผาเป็นเซรามิคซึ่งยังคงลวดลายมังกรที่ยิ่งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของโรงงานตามแนวบรรพบุรุษ 
1.4 การทำขลุ่ย
                ขั้นตอนการทำขลุ่ย

๑. เลือกไม้ไผ่รวกที่มีลำตรง ไม่คดงอมาตัดเป็นปล้องๆ โดยเหลือนิดหนึ่ง คัดเลือกขนาดตามชนิดของขลุ่ย
๒.นำไม้ไผ่รวกที่ตัดแล้วไปตากแดด จนไม้เปลี่ยนจากสีเขียวมาเป็นสีเหลืองซึ่งแสดงว่าไม้ไผ่รวกแห้งสนิทพร้อมที่จะนำมาทำขลุ่ย ตากแดดประมาณ ๗-๑๐ วัน
๓.นำกาบมะพร้าวชุบน้ำแตะอิฐมอญที่ป่นละเอียด ขัดไม้รวกให้ขึ้นมันเป็นเงาวาวอาจจะใช้ทรายขัดผิวไม้ไผ่รวกก่อนจะขัดด้วยอิฐมอญก็ได้
๔. ใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันพืช ทาผิวไม้ไผ่รวกให้ทั่ว เพื่อให้ตะกั่วที่ร้อนตัดผิวไม้รวกเวลาเทต่อจากนั้นเอาไม้สอด จับขลุ่ยพาดปากกะทะ ซึ่งในกะทะมีตะกั่วหลอมละลายบนเตาไฟใช้ตะหลิวตักตะกั่วที่หลอมเหลวราดบนไม้ไผ่รวก จะเกิดลวดลายงาม เรียกว่า เทลาย
๕.เมื่อได้ลวดลายตามต้องการแล้ว นำขลุ่ยไปวัดสัดส่วน
๖. เจาะรูตามสัดส่วนโดยเอาสว่านเจาะนำรู แล้วเอาเหล็กแหลมเผาไฟจนแดงตามรูที่ใช้สว่านเจาะนำไว้แล้วและเจาะทะลุปล้องข้อไม้ไผ่รวกด้วย
๗.เอามีดตอกแกะดากปากขลุ่ย ไม้ดาก คือ ไม้สัก เพราะว่าเป็นไม้ที่เนื้อไม่แข็งง่ายต่อการแกะ
๘. ทำดากปากขลุ่ย อุดปากขลุ่ยโดยให้มีรูสำหรับลมผ่านเวลาเป่า
๙. เลื่อยให้ดากเสมอกับปลายขลุ่ย
๑๐.ใช้มีดหรือเหล็กปลายแหลม เจาะปากนกแก้วทำไม้ไผ่รวกเป็นรูปสี่เหลี่ยมใต้ดากปากขลุ่ยประมาณ หนึ่งนิ้วเศษ เราเรียกรูนี้ว่ารูปากนกแก้ว
๑๑. ใช้ข่นเป็นชิ้นเล็กๆ กรอกเข้าไปทางด้านปล้องที่ตรงข้ามกับดากปากขลุ่ยพอประมาณกะพอว่าเมื่อขี้ผึ้งละลายจะสามารถอุดรูรั่วของลมเป่าที่ดากปากขลุ่ยได้
๑๒.ใช้เหล็กเจาะเผาไฟ แทงเข้าทางปล้องไปจนถึงดากปากขลุ่ย ความร้อนของเหล็กจะทำให้ขี้ผึ้งที่กรอกเข้าไป ก่อนหน้านั้น หลอมละลายเข้าตามรอยรั่วต่างๆ
๑๓.เมื่อขี้ผึ้งเย็นลงและแข็งตัว ใช้เหล็กแหย่ขี้ผึ้งที่อุดรูสำหรับให้ลมผ่านตรงดากปากขลุ่ยออกให้หมด
                วิธีการถ่ายทอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น

- ถ่ายทอดให้เด็กและผู้ที่สนใจในหมู่บ้านและในกลุ่มโดยการบรรยายและสาธิตวิธีการเป่าขลุ่ย
- ถ่ายทอดที่ชมรมผู้สูงอายุบ้านท่าโป่ง
                ขั้นตอนการถ่ายทอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น

-การวางท่าจับขลุ่ยที่ถูกต้องนั้นให้นั่งเหมือนกับการนั่งจับซึงหรือสะล้อนั่งตัวตรงเพื่อให้ลมที่จะใช้เป่าผ่านออกมาได้สะดวกในสมัยโบราณจะจับเล่มขลุ่ย (เลาขลุ่ย) ด้วยการเอามือขวาไว้ข้างบนมือซ้ายไว้ข้างล่าง แต่ไม่มีกฎตายตัวที่แน่นอนมาในสมัยนี้นั้นจะจับอย่างไรก็ได้แล้วแต่ความถนัดของผู้ฝึกสำหรับขลุ่ยหรือปี่ของทางภาคเหนือนั้นจะจับโดยเอามือซ้ายอยู่บนมือขวาอยู่ล่างในเนื้อหานี้ให้นักเรียนถือเลาขลุ่ยด้วยมือซ้าย โดยวางมือซ้ายอยู่ด้านบน ใช้นิ้วชี้นิ้วกลาง นิ้วนางปิดรูนับเสียงด้านบนและใช้นิ้วหัวแม่มือประคองขลุ่ยไว้ด้านล่าง (ขลุ่ยพื้นเมืองไม่มีรูนิ้วค้ำ)ส่วนมือขวาวางจับเลาขลุ่ยด้านล่าง ใช้นิ้วชี้นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย(ปัจจุบันนิยมใช้ขลุ่ยหลิบของทางภาคกลางแทน)
                วิธีการฝึกขลุ่ย

การใช้ลม การฝึกให้นั่งเหมือนกับการฝึกสะล้อ ซอ ซึงเอามือซ้ายไว้ด้านบนปิดรูที่ 1 2 3 ด้วยนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยการใช้ลมเป่าขลุ่ยนั้นเป็นลมที่ผ่านมาทางลำคอ แล้วบังคับด้วยลิ้น กระพุ้งแก้มริมฝีปากบังคับลมให้เข้าไปในตัวขลุ่ย ลมที่ใช้เป่ากันโดยทั่วไปคือ
ลมหนักหมายถึงเป่าแรงๆ เพื่อต้องการให้ได้เสียงสูง
ลมเบา หมายถึง เป่าเบาๆเพื่อต้องการให้ได้เสียงต่ำ
ลมโหยหวนเป็นการใช้ลมและนิ้วบังคับเสียงขลุ่ยให้ต่อเนื่องกันจากเสียงต่ำไปหาเสียงหรือจากเสียงสูงทอดลงมาหาเสียงต่ำ ลมกระพุ้งแก้ม ใช้ตอนระบายลมโดยการใช้กระพุ้งแก้มบีบลมออกมา ให้เข้าไปในตัวขลุ่ยพร้อมกับหายใจเข้าปอด ลมครั่นหมายถึงการเป่าหยุด เป่าหยุด เป็นระยะ ๆ สั้นบ้างยาวบ้างเพื่อต้องการอารมณ์เพลง
1.5 การทำบาตรพระ
                "กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย -ชุมชนบ้านบาตร"
เริ่มต้นจากริมคลองมหานาคเดินต่อมาจากชุมชนไม้แปรรูปหลังวัดสระเกศมาถึงสี่แยกเมรุปูนที่ถนนบริพัตรตัดกับถนนบำรุงเมืองเราจะเห็นการสาธิตวิธีทำบาตรด้วยมือแบบดั้งเดิมของกลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทยอยู่ตรงพื้นที่มุมเล็กๆที่หัวถนน โดยมีคุณหิรัญ เสือศรีเสริมผู้สืบทอดความรู้การทำบาตรมาจากตระกูลเป็นผู้นำชุมชนและหัวหน้ากลุ่มอนุรักษ์ฯคุณหิรัญเล่าว่า พื้นที่ตรงนี้เดิมเป็นของวัดสระเกศแต่ทางวัดมอบให้ชุมชนใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เพราะชุมชนบ้านบาตรเองอยู่ลึกเข้าไปในซอยบ้านบาตร ไม่มีใครผ่านมาพบง่ายๆ
                ชุมชนบ้านบาตรแต่ดั้งเดิม

                บ้านบาตรเป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งสืบทอดความรู้การทำบาตรมากว่าสองร้อยปีชุมชนตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด เพราะมีเรื่องเล่ากันหลายที่มา บ้างว่าเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาเดิมที่ย้ายมาตั้งรกรากสมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1 บ้างก็ว่าเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา (เช่นกัน) ที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจริงในสมัยใดก็ตามชาวบ้านในพื้นที่บริเวณนี้ได้รวมตัวกันสร้างชุมชนรอบคูคลอง (ที่ขุดขึ้นใหม่ในยุคสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง)แบ่งพื้นที่กันไปตามกลุ่มวิชาชีพที่ถนัดสำหรับชุมชนบ้านบาตรเองนั้นรุ่งเรืองขึ้นได้ด้วยใน "ยุคสร้างบ้านสร้างเมือง"ชนชั้นเจ้านายนิยมสร้างวัดกันมาก ชาวบ้านบาตรจึงพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย
            เมื่อโรงงานปั๊มบาตรเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2514 ชุมชนบ้านบาตรก็แทบล่มสลายเพราะโรงงานสามารถผลิตบาตรได้ในราคาถูกกว่าหลายเท่า (บาตรบุด้วยมือขนาด 7 นิ้วมีราคาเฉลี่ยใบละ 800 บาท แต่บาตรปั๊มมีราคาเฉลี่ยใบละ 100 กว่าบาทเท่านั้น)บาตรบุเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลา อาศัยความชำนาญของช่างหลายขั้นตอนอีกทั้งต้องใช้วัสดุที่มีต้นทุนไม่น้อย สมัยก่อนใช้ถังยางมะตอยที่ทางเทศบาลใช้แล้วตกราคาถังละ 10 กว่าบาท แต่สมัยนี้ต้องไปหาซื้อเหล็กแผ่นจากหัวลำโพง ราคาแผ่นละ 100 บาท (เหล็ก 4 แผ่นทำบาตรขนาด 9 นิ้วได้ 5 ใบ) ด้วยราคาที่สูงขึ้นมากนี้ผู้คนจึงหันไปซื้อบาตรปั๊มแทนส่งผลให้ชาวบ้านบาตรหลายครอบครัวต้องล้มเลิกกิจการและเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นคงเหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่ยังต่อสู่สืบอาชีพทำบาตรกันต่อไป
                จนถึงวันนี้ชุมชนบ้านบาตรไม่สามารถแข่งขันด้วยการ
"ขายส่ง" บาตรพระได้อีกแล้ว ชาวบ้านจึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นแทนเพื่อสืบทอดและเผยแพร่วิธีการทำบาตรโบราณนี้โดยเจาะกลุ่มผู้ที่ต้องการหาซื้อบาตรเป็นของที่ระลึก หรือต้องการบาตรแบบประณีตพิเศษ (โดยไม่เกี่ยงราคา) เท่านั้น
1.6 เครื่องปั้นดินเผา
                ศูนย์ผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่เกาะเกร็ด
     ที่เกาะเกร็ดก็มีศูนย์ผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลายที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าไปชมการผลิตได้ อย่างเช่นที่ศูนย์ผลิตเครื่องปั้นดินเผากวาน อาม่าน ผู้ที่เป็นเจ้าของศูนย์นี้ก็คือ คุณบริรักษ์ สุขศีลธรรม ซึ่งก็เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถมาทดลองทำเครื่องปั้นดินเผาได้ แต่ก็ไม่ได้มีแค่ศูนย์เดียวนะคะ ยังมีอีกหลายศูนย์บนเกาะเกร็ดนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ตามริมทาง จะมีป้ายบอกทางไปตามศูนย์นั้น
    ศูนย์แสดงเครื่องปั้นดินเผาบนเกาะเกร็ดนี้ จะมีวางโชว์ตามบ้านริมทาง สินค้าที่นำมาโชว์จะมี โอ่ง แจกัน ครก กระทง ต้นไม้ ของชำร่วยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งนักท่องเที่ยงก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จนทำให้ผู้ผลิตผลิตไม่ทัน จึงต้องเร่งรีบทำให้ทันตามความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่เกาะเกร็ด
                 เบญจรงค์            
    เบญจรงค์เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในบ้านขุนนาง หรือเจ้านายชั้นสูงมีมาในสมัยอยุธยา ไม่นิยมนำมาขายตามท้องตลาด เครื่องเบญจรงค์สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยอยุธยา จะมาสิ้นสุดที่ ร. 5 รูปทรงที่ใช้จะต่างกันไปตามยุคตามสมัย เช่น สมัยอยุธยาใช้ลายเทพนม และลายนรสิงห์ รูปทรงที่ใช้ทรงบัว และทรงมะนาวตัดเป็นต้น
ตอนที่ 2 ศิลปะพื้นบ้านภาคเหนือ
  2.1 เครื่องจักสาน

                ภาคเหนือ หรือล้านนาไทย เป็นดินแดนที่มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเป็นของตนเอง เป็นเหตุให้เครื่องจักสานในภาคเหนือมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่น นอกจากนี้ ภาคเหนือหรือล้านนาไทยมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ
                สภาพการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมทำให้ภาคเหนือเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จักสานที่สำคัญ นอกจากนี้ ภาคเหนือยังมีวัตถุดิบหลายชนิดที่นำมาทำเครื่องจักสานได้ เช่น  กก แหย่ง ใบลาน และไม้ไผ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้ไผ่ซึ่งมีหลายชนิดที่ใช้ทำเครื่องจักสานได้ดี
          นอกจากสภาพภูมิประเทศและการประกอบอาชีพของภาคเหนือที่เอื้ออำนวยให้ประชาชนทำเครื่องจักสานแล้ว ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีและศาสนาของภาคเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง
          ภาคเหนือหรือล้านนาไทยเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในวงล้อมของขุนเขา ทำให้ภาคเหนือมีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาแต่โบราณมีภาษาพูด ภาษาเขียน ขนบประเพณี เป็นของตนเอง เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นเหล่านี้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เครื่องจักสานภาคเหนือมีเอกลักษณ์ของตนเอง
          การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคเหนือหรือล้านนาไทยนั้น ทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ ดังมีหลักฐานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง เช่น ภาพชาวบ้านกับเครื่องจักสานในภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดพระสิงห์วรวิหารอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาพชาวบ้านกำลังนั่งสนทนากันอยู่ ข้างๆ ตัวมีภาชนะจักสานชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เปี้ยด หรือกระบุงวางอยู่รูปทรงของเปี้ยดในภาพคล้ายกับเปี้ยดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แสดงว่าชาวล้านนาสานเปี้ยดใช้มานานนับร้อยปี นอกจากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดสิงห์วรวิหารแล้ว ยังมีภาพของเครื่องจักสานปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกหลายภาพ เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน                           
         นอกจากนี้ วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคข้าวเหนียวหลายอย่าง เช่น ลังถึงก๋วยซ้าหวด ก่องข้าว กระติบข้าว แอบข้าวขันโตก ฯลฯ เครื่องจักสานเหล่านี้หลายชนิดมีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่น ได้แก่ ก่องข้าว แอบข้าว เปี้ยด เป็นต้น
                ก่องข้าว  ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งสานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดและรูปทรงต่างๆ กัน ก่องข้าวของภาคเหนือทั่วไปแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือส่วนฐาน มักจะทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาทติดอยู่กับส่วนก้นเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง ตัวก่อง มักสานก้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือกลมต่อขึ้นมาเป็นทรงกระบอกคอคอดเข้าเล็กน้อย ส่วนที่สามคือฝา มีลักษณะเป็นฝาครอบ มักจะมีหูสำหรับร้อยเชือกที่ใช้เป็นที่หิ้วหรือแขวนมาจากตัวก่องรูปแบบของก่องข้าวในปัจจุบัน บางท้องถิ่นได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากโบราณบ้าง เช่นสานด้วยพลาสติกแทนตอก และมีรูปทรงแปลกๆแตกต่างกันไปตามความนิยมของผู้ใช้ แต่ประโยชน์และความสวยงามไม่สมบูรณ์ลงตัวเหมือนก่องข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่
                แอบข้าว หรือ แอ๊บข้าว  ภาชนะใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกับก่องข้าว แต่มีขนาดเล็กกว่าสำหรับพกพาติดตัวเวลาไปทำงานนอกบ้าน แอบข้าว มีส่วนประกอบสำคัญคือ ตัวแอบรูปร่างคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฝาแอบรูปร่างเหมือนตัวแอบแต่ขนาดใหญ่กว่า เพราะใช้ครอบแอบข้าวแอบข้าวเหมาะสำหรับพกใส่ถุงย่าม ห่อผ้าคาดเอวออกไปทำนา ทำไร่ เช่นเดียวกับกล่องใส่อาหารในปัจจุบัน
         ก่องข้าวและแอบข้าวของภาคเหนือ เป็นเครื่องจักสานที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านรูปแบบและประโยชน์ใช้สอย สอดคล้องกับความนิยมของประชาชนแต่ละถิ่น
          นอกจากนี้ในภาคเหนือยังมีเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ใช้กันแพร่หลายอีกหลายอย่าง เช่น บุง หรือ เปี้ยด ภาชนะสานสำหรับใส่ของเช่นเดียวกับกระบุงของภาคกลาง แต่บุงภาคเหนือมีรูปร่างต่างกันไป เช่น บุงเมืองแพร่ บุงลำพูนหรือบุงลำปาง จะมีขนาดค่อนข้างเล็กกว่ากระบุงภาคกลาง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะต้องการลดน้ำหนักของบุงให้น้อย เพราะบุงภาคเหนือใช้หาบของในภูมิประเทศที่เป็นเนิน ไม่สามารถหาบของที่มีน้ำหนักมากเหมือนกับภาคกลางซึ่งเป็นพื้นราบ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บุงภาคเหนือมีลักษณะป้อมกลมไม่เป็นเหลี่ยมเหมือนกระบุงภาคกลางนั้นช่วยให้บุงมีความคงทน ไม่แตกหักเสียหายง่ายเมื่อกระทบกระแทกกับสิ่งอื่น ใช้งานได้นาน
         การสานบุงภาคเหนือ จะสานก้นเป็นแผงสี่เหลี่ยม ด้วยลายสองก่อน ถัดขึ้นมาตรงกลางหรือกระพุ้งสานลายสาม ส่วนปากที่โค้งสอบเข้าสานลายหนึ่ง และใช้ตอกค่อนข้างเล็กเพื่อความแข็งแรงทนทาน การสานปากของบุงจะต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น เช่น บุงเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง จะเข้าขอบปากด้วยไม้ไผ่และหวาย ต่างกับบุงเมืองแพร่และน่าน จะสานขอบในตัวโดยการเม้มตอกสานสอดกันเป็นขอบแทนการเข้าขอบด้วยไม้ไผ่                                                           
         บุงภาคเหนือนอกจากจะใช้ใส่เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ แล้ว ยังใช้เป็นภาชนะสำหรับตวงหรือวัดปริมาณของเมล็ดพืชผลด้วยโดยใช้ขนาดของบุงเป็นเกณฑ์ เช่น บุงสามสิบห้าบุงสามสิบ คือ บุงที่มีความจุสามสิบห้าลิตร และบุงจุสามสิบลิตร เป็นต้น ในการสานบุงที่จะใช้ทำเครื่องตวงนี้จำเป็นจะต้องมีแบบหรือ "หุ่น" ที่สานด้วยไม้ไผ่ให้มีขนาดมาตรฐานเป็นแบบและยังช่วยให้บุงมีรูปทรงที่ดี ไม่บิดเบี้ยว มีความจุตรงตามต้องการ
          บุง หรือกระบุงของภาคเหนือดังกล่าว เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์และความงามเฉพาะถิ่นของภาคเหนือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักสานกับประเพณีนิยมของท้องถิ่นทำให้เครื่องจักสานได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านใช้สอยและความสวยงาม
          เครื่องจักสานของภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นโดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ น้ำทุ่ง หรือน้ำถุ้ง เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชันและน้ำมันยาง ใช้สำหรับตักน้ำจากบ่อน้ำ รูปร่างของน้ำทุ่งเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดีคือ มีลักษณะคล้ายกรวยป้อมๆ ส่วนก้นมนแหลม ที่ปากมีไม้ไขว้กันเป็นหูสำหรับผูกกับเชือกเพื่อสาวน้ำทุ่งขึ้นมาจากบ่อน้ำ ความมน แหลมของก้นน้ำทุ่งจะช่วยให้น้ำทุ่งโคลงตัวคว่ำลงให้น้ำเข้าเมื่อโยนลงไปในบ่อ นอกจากนี้ ลักษณะการสานที่แข็งแรงยังช่วยให้น้ำทุ่งมีความทนทาน แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ผลิตน้ำทุ่งด้วยสังกะสีแต่ความคงทนและประโยชน์ใช้สอยสู้น้ำทุ่งที่สานด้วยไม้ไผ่ไม่ได้ แสดงว่าเครื่องจักสานพื้นบ้านที่คนโบราณผลิตขึ้นนั้น เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม และใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
         นอกจากตัวอย่างของเครื่องจักสานไม้ไผ่ภาคเหนือดังกล่าวแล้ว ยังมีเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกหลายชนิด เช่น ซ้าหวด กัวะข้าว ก่องข้าว แอบข้าว โตก ฝาชี แอบหมาก แอบเมี้ยงซ้าชนิดต่างๆ หมวกหรือกุบ ก๋วยก๋วยก้าก๋วยหมู ก๋วยโจน เข่งลำไย ซ้าล้อม ซ้าตาห่าง ซ้าตาทึบ หรือบุงตีบ น้ำทุ่ง น้ำเต้า คุ วี ต่างเปี้ยด หรือบุงชนิดต่างๆ เปลเด็ก เอิบ ไซชนิดต่างๆ สุ่ม ฯลฯ
         เครื่องจักสานภาคเหนือยังทำด้วยวัตถุดิบอื่นๆอีก เช่น ใบลานและใบตาล ซึ่งทำกันไม่มากนักส่วนมากนิยมสานหมวก งอบ หรือ กุบ และก่องข้าวเล็กๆ
2.2 เครื่องไม้แกะสลัก
                ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักนำเอาโลหะมาใช้ทำเครื่องใช้ต่างๆ นั้นมนุษย์ได้รู้จักนำเอาไม้มาใช้ทำสิ่งของ ต่างๆ ก่อนโดยเริ่มจากการรู้จักใช้ท่อนไม้เป็นอาวุธ และทำเครื่องทุ่นแรงต่างๆ เช่น คานงัดคราดเกลี่ยดิน เป็นต้น นักมนุษยศาสตร์คาดว่ามนุษย์รู้จักประดิษฐ์คิดค้นทำเครื่องมือใช้ ราวตอนปลายของยุคหิน (ประมาณ ๘, ๐๐๐ปีก่อนคริสต์ศักราช)เริ่มด้วยการใช้หินหรือกระดูกสัตว์มาทำเป็นมีดหรือเครื่องมือขุดอย่างง่ายๆต่อมาเริ่มรู้จักเหลาไม้ทำเป็นแหลน หรือหลาวเอาไว้ล่าสัตว์ทำเป็นไถเอาไว้พรวนดินเพื่อการเพาะปลูก จนกระทั่งถึงยุคเหล็กและยุคทองแดงที่มนุษย์เริ่มรู้จักถลุงโลหะนำมาใช้ได้แม้ว่าวิวัฒนาการทางโลหะได้เกิดขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบันก็ตามไม้ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์   หาได้ล้าสมัยไปไม่ ตรงกันข้าม กลับทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกมากทั้งนี้ได้อาศัยวิชาการใหม่ๆ ขยายการใช้ไม้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีกเราใช้ไม้เกือบทุกส่วนของต้นไม้ นับตั้งแต่รากไม้บางอย่างใช้ทำยา สกัดยา สีน้ำมันจากเปลือกไม้ ใช้ใบไม้ห่อของ มุงหลังคา ทำอาหาร และยาแต่ส่วนใหญ่เราได้ประโยชน์จากการใช้เนื้อไม้โดยการเลื่อยออกเป็นแผ่นแล้วใช้ทำบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เครื่องเรือน พาหนะเครื่องใช้ไม้สอยอีกมากมาย ทั้งนี้เพราะไม้เป็นวัสดุจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การก่อสร้างเกือบทุกชนิด เมื่อพิจารณาถึงราคา ความสะดวกในการจัดหาความแข็งแรงต่อหน่วย  น้ำหนัก ความสะดวกในการแปรรูป ตลอดจนความ  สวยงามตามธรรมชาติของมันเราอาจจะพูดได้ว่าไม่มีวัสดุใดที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความเจริญของมนุษยชาติเทียบเท่าไม้
                การทำไม้แกะสลักสืบเนื่องมาจากความเชื่อความเชื่อของชาวบ้านประกอบกับประสบการณ์ที่สานต่อมาจากบรรพบุรุษดังนั้นยามว่างชาวบ้านจึงได้คิดจำลองภาพจากแหล่ง ต่างๆและนำมาแกะสลักลวดลายลงบนไม้ เช่นการแกะสลักสิงห์โตเริ่มจากการจำลองภาพจากหนังสือวรรณคดีเรื่องสัตว์ป่า หิมพาน จากนั้นได้หาเศษไม้ รากไม้ที่ไม่ใช้แล้วในหมู่บ้านนำมาแกะสลักจากฝีมือ  และภูมิปัญญาที่ชาวบ้านมีอยู่ โดยใช้ไม้สักในการแกะเนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งง่ายสำหรับการแกะสลักออกเป็น ลวดลายตามแบบของสิงห์โตโดยเน้นลวดลายที่อ่อนช้อย งดงามแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาไทยเมื่อชาวบ้านจำลองภาพสิงห์โตออก มาโดยการแกะสลักแล้วก็จะนำสิงห์โตไปตั้งไว้หน้าวัดเพื่อป้องกันสิ่งเลวร้าย ที่จะเข้ามาคุกคามหมู่บ้านหรือป้องกันภัยสำหรับชาวบ้านหรือลูกหลานในหมู่ บ้านนั้นนอกจากการแกะสลักเป็นภาพสัตว์ในวรรณคดีแล้วยังมีการพัฒนารูปแบบ ต่างๆอย่างหลากหลายโดยจะเน้นลวดลายความเป็นล้านนาไทยที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
2.3 การทอผ้า
                ผ้าพื้นบ้านภาคเหนือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดคือ ผ้าไทยวน ผ้าไทลื้อ ผ้าของกลุ่มชนทั้งสอง ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องนอน และเครื่องบูชาตามความเชื่อที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะผ้าซิ่น ผ้านุ่งผู้หญิงของกลุ่มไทยวนและไทลื้อมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกัน แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่

-หัวซิ่น ส่วนที่อยู่ติดกับเอว มักใช้ผ้าพื้นสีขาว สีแดง หรือสีดำต่อกับตัวซิ่นเพื่อให้ซิ่นยาวพอดีกับความสูงของผู้นุ่ง และช่วยให้ใช้ได้คงทน เพราะเป็นชายพกต้องขมวดเหน็บเอวบ่อยๆ
-ตัวซิ่น ส่วนกลางของซิ่น กว้างตามความกว้างของฟืม ทำให้ลายผ้าขวางลำตัว มักทอเป็นริ้วๆ มีสีต่างๆ กัน เช่น ริ้วเหลืองพื้นดำ หรือทอยกเป็นตาสีเหลี่ยม หรือทอเป็นลายเล็กๆ
-ตีนซิ่น ส่วนล่างสุด อาจเป็นสีแดง สีดำ หรือทอลายจกเรียก ซิ่นตีนจก ชาวไทยวนนิยมทอตีนจกแคบ เช่น ซิ่นตีนจกแม่แจ่ม บริเวณอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มักทอลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดอยู่ตรงกลาง เชิงล่างสุดเป็นสีแดง ซิ่นตีนจกของคหบดีหรือเจ้านายมักสอดดิ้นเงินหรือดิ้นทองให้สวยงามยิ่งขึ้น
                การนุ่งซิ่นและห่มสไบเป็นการแต่งกายที่แพร่หลายในกลุ่มผู้หญิงชาวเหนือแทบทุกกลุ่ม แต่รูปแบบของซิ่นจะแตกต่างกันตามคตินิยมของแต่ละกลุ่ม เช่น ชาวไทลื้อในบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน โดยเฉพาะกลุ่มไทลื้อ จังหวัดน่าน มีแบบแผนการทอผ้าซิ่นและการสร้างลวดลายที่สำคัญ ๓ ประเภท คือ
                ๑. ลายล้วงหรือเกาะ คือ การสร้างลายด้วยวิธีล้วงด้วยมือ คือใช้เส้นด้ายสีต่างๆ สอดลงไปในเส้นด้ายยืนตามจังหวะที่กำหนดให้เป็นลายคล้ายการสานขัด จากนั้นจะใช้ฟืมกระแทกเส้นด้ายให้สนิทเป็นเนื้อเดียวกัน ผ้าลายล้วงที่มีชือเสียงคือ ผ้าลายน้ำไหล หรือ ผ้าลายน้ำไหลเมืองน่าน ซึ่งเกิดจากการล้วงให้ลายต่อกันเป็นทางยาว เว้นระยะเป็นช่วงๆ คล้ายคลื่น นอกจากผ้าลายล้วงยังมีลายอื่นๆ ที่เรียกชื่อตามลักษณะลาย เช่น ลายใบมีด หรือลายมีดโกน เป็นลายที่เกิดจากการล้วงสอดสีด้ายหลายๆ สีให้ห่างกันเป็นช่วงๆ เหมือนใบมีดบางๆ ลายจรวดมีลักษณะคล้ายจรวดกำลังพุ่ง ลายน้ำไหลสายรุ้งเป็นลายที่พัฒนามาจากลายน้ำไหลโดยคั่นด้วยการสอดสี ลายไส้ปลา เป็นลายที่มีหลายสีคล้ายสีรุ้ง แล้วคั่นด้วยการเก็บมุกชนิดต่างๆ เช่น มุกลายดอกหมาก มุกข้าวลีบ ลายกำปุ้งหรือลายแมงมุม พัฒนาจากการนำลายน้ำไหลมาต่อกันตรงกลาง เติมลายเล็กๆ โดยรอบเป็นขาคล้ายแมงมุม ต่อมาพัฒนาเป็นลายอื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ลายดอกไม้ ลายปู ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมาจากกรรมวิธีในการล้วงทั้งสิ้น หากแต่ละลายจะดัดแปลงปสมกับกรรมวิธีอื่นเพื่อให้ได้ลวดลายที่ต่างกันออกไป              
                 ๒.ลายเก็บมุก คือ การสร้างลวดลายด้วยการทอคล้ายกับการเก็บขิดของอีสาน ไม่ได้ล้วงด้วยมือ แต่จะเก็บลายด้วยไม้ไผ่เหลากลมปลายไม่แหลม เมื่อเก็บลายเสร็จแล้วจะสอดเส้นด้ายด้วยไม้เก็บลายชนิดต่างๆ ตามแม่ลายที่จะเก็บ ลายชนิดนี้เรียกชื่อต่างกันไปตามความนิยมท้องถิ่น

                ๓.ลายคาดก่าน หรือ มัดก่าน คือการสร้างลวดลายที่ใช้กรรมวิธีเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ การคาด(มัด) ก่อนย้อมจะเป็นตัวกำหนดขนาดของลาย คล้ายลายมัดหมี่ ลายคาดก่านมักประดิษฐ์เป็นลวดลายเล็กๆ ไม่พัฒนาลวดลายเหมือนลายน้ำไหล
                กรรมวิธีในการทอผ้าให้เป็นลวดลายประเภทต่างๆ เหล่านี้ ได้นำมาใช้กับผ้าทอที่ต้องการใช้สอยในลักษณะที่ต่างกันไป โดยเฉพาะซิ่นไทลื้อเมืองน่าน หรือ ซิ่นน่าน มีลวดลายและสีเด่น เพราะทอด้วยไหมเป็นริ้วไหญ่ๆ สลับสีประมาณสามหรือสี่สี ส่วนตีนซิ่นมีสีแดงเป็นแถบใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นสีน้ำเงินหรือม่วงเข้มคั่นด้วยดิ้นเงินหรือดิ้นทอง หรือไหมคำสลับเพื่อให้เกิดความวาวระยับ บางทีแต่ละช่วงจะคั่นด้วยลวดลายให้ดูงดงามยิ่งขึ้น เรียกต่างออกไปตามลักษณะของลาย เช่น ซิ่นป้อง ซิ่นตาเหล็ม ซิ่นล้วง ซิ่นลายน้ำไหล      
               นอกจากนี้ซิ่นชนิดต่างๆ และกรรมวิธีในการสร้างลวดลายประเภทต่างๆ ตามลักษณะพื้นบ้านแล้ว ยังมีผ้าชนิดต่างๆ ที่มีความงดงามสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอีกหลายชนิด เช่น ผ้าแหลบ หรือผ้าหลบ หรือผ้าปูที่นอน ที่นิยมทอเป็นลายทั้งผืนหรือลายเฉพาะบางส่วน เช่น เชิงทอเป็นรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง หรือดอกไม้เรียงเป็นแถว เชิงล่างปล่อยเส้นฝ้ายลุ่ยหรือถักเป็นเส้นตาข่ายเพื่อความสวยงาม
                ผ้าหลบหรือผ้าห่มนี้มักทอเป็นลวดลายเรขาคณิตคล้ายลายขิด ส่วนมากจะทอเป็นผืนเล็กๆ หน้าแคบ เพื่อความสะดวกในการทอก่อน แล้วจึงเย็บผนึกต่อกันเป็นผืน คล้ายกับผ้าห่มหรือผ้าห่มไหล่ของชาวลาว แต่ผ้าหลบนิยมทอตัวลายด้วยสีแดงและดำ ผ้าหลบปละผ้าเก็บมุกที่ใช้การประดิษฐ์ลวดลายด้วยวิธีการนี้ ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย
                นอกเหนือจากการทอผ้าของกลุ่มชนเชื้อสายไทยวนและไทลื้อที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นดังกล่างแล้ว ในบริเวณภาคเหนือยังมีผ้าที่มีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ผ้าย้อมครามหรือสีกรมท่า ย้อมจากต้นครามหรือต้นห้อม เรียก ผ้าหม้อห้อม ใช้สำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อและกางเกง ทำกันมากที่ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่      
                ส่วนหญิงชาวบ้านทั่วไปที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่งในภาคเหนือ มีรูปแบบของการใช้เครื่องนุ่งห่มที่คล้ายคลึงกันคือ นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า ลายขวางลำตัว มักเป็นซิ่นสีพื้นมีลายสีเข้ม เช่น สีแดง สีส้ม และสีดำเป็นลายขวางสลับเป็นริ้วขวางลำตัว ที่เชิงซิ่นมีทั้งที่เป็นแถบสีส้ม สีแดง เป็นแถบใหญ่ๆ ไม่มีลวดลาย ส่วนที่มีลวดลายจกแบบที่เรียกว่าตีนจกนั้น จะมีเฉพาะสตรีที่มีฐานนะและสตรีชั้นสูงเป็ฯส่วนใหญ่ ผู้หญิงมักไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้ารัดอกหรือห่มสไบเฉียง หรือใช้ผ้าคล้องคอห้อยสองชายลงมาข้าหน้า สูบบุหรี่ไชโยมวนโต แต่ก็มีในบางแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นหญิงสาวผู้ดีสวมเสื้อแขนยามคล้ายเสื้อคลุมสวมทับเสื้อชั้นในอีกทีหนึ่ง คงเป็นการแต่งกายที่รับแบบอย่างมาจากตะวันตก ทรงผมนิยมไว้ผมยาวเกล้าสูงเป็นมวยไว้กลางศีรษะ รัดเกี้ยวมีปิ่นปัก บางทีดัดจอนผมยาวงอน สตรีชั้นสูงนิยมนุ่งซิ่นไหม ลายขวางสอดดิ้นเงินดิ้นทอง เชิงซิ่นเป็นลวดลายจก แต่ถ้าเป็นโอกาสพิเศษจะนุ่งตีนจก ส่วนการสวมเสื้อแทนผ้ารัดอกหรือผ้าสไบคงเกิดขึ้นภายหลังตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
                นอกจากการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในภาคเหนือยังทอผ้าสำหรับใช้สอยอีกหลายอย่าง เช่นผ้าหลบ ผ้าแซงแดง ผ้าแซงดำ ผ้าแหล็บ ผ้ากั้ง ผ้ามุ้ง ผ้าขาวม้า ผ้าล้อ ผ้าปกหัวนาค ย่าม ผ้าห่ม ฯลฯ
                  ผ้าพื้นบ้านภาคเหนืออีกประเภทหนึ่งเป็นผ้าที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ขนบประเพณีของกลุ่มชน เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ ได้แก่ ตุง หรือธงที่ใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น ตุงไจ ตุงสามหาง                                                       
                ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านในภาคเหนือยังทอกันอยู่ในหลายท้องถิ่น เช่น ในบริเวณอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อำเภอสันกำแพง อำเภอแม่แตง อำเภอแม่อาย อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และในหลายอำเภอของจังหวัดลำปาง โดยเฉพาะผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจากกรรมวิธีพื้นบ้านโบราณหลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทอผ้าอีกหลายกลุ่มกระจายอยู่หลายจังหวัด เช่น กลุ่มทอผ้าอำเภอลอง จังหวัดแพร่ กลุ่มทอผ้าไทลื้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
                ผ้าพื้นเมืองภาคเหนืออีกประเภทหนึ่ง คือ ผ้าทอมือกลุ่มน้อย เช่น ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง ไทใหญ่ และผ้าทอของชาวเขาเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า มูเซอ ผ้าทอเปล่านี้จะมีรูปแบบและกรรมวิธีในการทอที่แตกต่างกันไป ตามคตินิยมและขนบประเพณีที่สืบทอดกันมาในกลุ่มของตน เช่น ผ้ากะเหรี่ยง นิยมทอลายขวางเป็นชิ้นเล็กๆ สีแดงและดำ เมื่อนำมาทอเครื่องนุ่งห่มจะเย็บต่อกันจนมีขนาดตามความต้องการ ส่วนชาวไทยภูเขานั้นมีกรรมวิธีในการทอผ้าต่างออกไป มักหน้าแคบ ตกแต่งเป็นลวดลายด้วยการปัก ประดับเครื่องเงิน ลูกปัด เพื่อเพิ่มสีสันให้งดงาม
ตอนที่ 3 ศิลปะพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 3.1 เครื่องจักสาน

                     นอกจากประชากรในภาคอีสานจะมีความหลากหลายของลักษณะทางชาติพันธุ์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ แม้ว่าคนอีสานจะบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกับคนภาคเหนือก็ตามแต่เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริโภคข้าวเหนียวของภาคอีสานมีลักษณะเฉพาะตนที่ต่างไปจากของภาคเหนือ ถึงแม้จะใช้ประโยชน์ในการใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกันก็ตาม
          เครื่องจักสานภาคอีสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวที่สำคัญ คือ ก่องข้าว และกระติบ
          ก่องข้าวและกระติบของชาวอีสาน ในบริเวณอีสานกลางและอีสานใต้มีรูปแบบเฉพาะตนที่ต่างกัน โดยมีรูปแบบและวิธีการสานที่เป็นของตนเองตามความนิยมของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ  ก่องข้าวที่ใช้กันในบริเวณอีสานกลาง  โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคามร้อยเอ็ด ขอนแก่น นั้นมีลักษณะและรูปแบบต่างไปจากกระติบข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่ของถิ่นอื่นๆก่องข้าวชนิดนี้คล้ายกับก่องข้าวภาคเหนือ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน ฐาน ทำด้วยไม้ตามแต่จะหาได้ เป็นแผ่นไม้กากบาทไหว้กันเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง บางทีก็แกะเป็นลวดลายเพื่อความสวยงามไปด้วย ตัวก่องข้าว สานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน ๒ ชั้น เป็นรูปคล้ายโถ โดยมี ฝา รูปร่างเหมือนฝาชีครอบอีกชั้นหนึ่ง ขอบฝาจะใช้ก้านตาลเหลาเป็นแผ่นบางๆ โค้งทำขอบฝาเพื่อความคงทน การสานก่องข้าวชนิดนี้จะต้องสานตัวก่องข้าวซ้อนกัน ๒ ชั้น เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดีโดยที่จะสานโครงชั้นในก่อนด้วยลายสองที่ก้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม เพื่อให้เกิดมุมสี่มุมสำหรับผูกกับไม้กากบาทที่เป็นฐานได้สะดวก เสร็จแล้วจึงสานส่วนต่อขึ้นมาเป็นตัวก่องข้าวด้วยลายขัด(ภาษาถิ่นเรียก "ลายกราว")  โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็กๆ จนได้ขนาดตามต้องการ แล้วจึงสานตัวก่องข้าวด้านนอกครอบอีกชั้นหนึ่งด้วยตอกปื้นเป็นลายสองยืน หรือลายสองเวียน เพื่อให้เกิดความสวยงาม ตัวก่องข้าวที่สานหุ้มนี้จะต้องสานให้ใหญ่กว่าตัวแบบภายใน แล้วพับปากก่องข้าวหุ้มกลับเข้าไปภายในเพื่อความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่งโดยใช้เส้นหวายผูกคาดไว้ภายนอกเพื่อรับขอบของฝาไปในตัว เมื่อได้ตัวก่องข้าวแล้วจึงทำฐานให้ผายออกรับกับรูปทรงของก่องข้าวด้วย ไม้ฐานนี้จะผูกติดกับส่วนก้นสี่มุมด้วยหวาย เมื่อได้ตัวก่องข้าวพร้อมฐานแล้วจึงสานฝา ซึ่งมักจะสานด้วยตอกปื้นค่อนข้างใหญ่เป็นลายต่างๆ แล้วแต่จะเรียกโดยสานเป็นรูปคล้ายฝาชี  เมื่อได้ส่วนประกอบที่สำคัญพร้อมแล้วจะต้องทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้สะพายบ่าหรือใช้แขวน จากรูปทรงและวิธีการของก่องข้าวแบบนี้จะเห็นว่าเป็นการสร้างรูปแบบของเครื่องใช้ให้สนองประโยชน์ใช้สอยได้ดีนั่นเองก่องข้าวชนิดนี้มีความสมบูรณ์ทั้งรูปทรงที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้ดีด้วย   
                ภาชนะจักสานสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งอีกแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันในอีสานเหนือ คือ "กระติบ"ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกัน แต่รูปแบบและวิธีการสานแตกต่างออกไป กระติบมีรูปร่างทรงกระบอกคล้ายกระป๋องไม่มีขา มีเพียงส่วนตัวกระติบและส่วนฝาเท่านั้น วิธีการสานจะสานด้วยตอกไม้เฮี้ยะซึ่งเป็นตอกอ่อนๆ โดยจะสานเป็นรูปทรงกระบอกให้มีความยาวเป็นสองเท่าของความสูงของตัวกระติบที่ต้องการ เสร็จแล้วต้องพับทบกลับส่วนหนึ่งไว้เป็นด้านในตัวกระติบ ก่องข้าวชนิดนี้จะสานลายด้านในและด้านนอกต่างกันคือส่วนที่จะพับทบกลับไว้ด้านในนั้นจะสานด้วยลายอำเวียน ส่วนด้านนอกที่ต้องการความสวยงามจะสานด้วยลายสองยืน หรือยกดอกเพื่อความสวยงาม ส่วนก้นจะต้องสานเป็นแผ่นกลมๆ ต่างหากแต่นำมาผนึกติดกับตัวกระติบภายหลัง ส่วนฝากระติบก็จะทำเช่นเดียวกับตัวกระติบ กระติบชนิดนี้บางครั้งอาจจะใช้ก้านตาลขดเป็นวงทำเป็นส่วนฐาน เพื่อความคงทนด้วย

                อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างก่องข้างและกระติบ เกิดจากความนิยมของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นที่ทำสืบทอดต่อๆ กันมาแต่บรรพบุรุษปัจจุบัน ก่องข้าวและกระติบยังคงรักษารูปทรงและลักษณะเฉพาะถิ่นของตนไว้ได้  เพราะผู้สานแต่ละถิ่นมักมีความถนัดและเคยชินในการทำตามแบบอย่างของตนมากกว่าที่จะเลียนแบบก่องข้าวถิ่นอื่น แม้ปัจจุบันเครื่องจักสานพื้นบ้านอีสานจะมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น เพิ่มสีสันหรือนำวัสดุสมัยใหม่ เช่น พลาสติก เข้ามาประยุกต์ใช้ประกอบกับเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยมมากกว่าความต้องการที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบดั้งเดิมของตน แต่ในที่สุดก่องข้าวไม้ไผ่ก็ยังเป็นที่นิยมของชาวบ้านมากกว่าภาชนะชนิดอื่นเครื่องจักสานพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ "ตะกร้า" หรือที่ภาษาถิ่นเรียก "กะต้า"หรือ "กะต่า" ซึ่งเป็นภาชนะจักสานที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน
         ตะกร้า หรือ กะต้าสาน  มีประโยชน์ในการใช้สอยเช่นเดียวกับตะกร้าภาคกลางหรือซ้าภาคเหนือ เป็นภาชนะที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในภาคอีสานเพราะใช้ใส่ของได้สารพัดและใช้ได้ทั้งการหิ้ว หาบ และคอนด้วยไม้คาน รูปทรงของตะกร้าหรือกะต้าต่างไปจากตะกร้าภาคอื่น กะต้าสานด้วยไม้ไผ่ เริ่มสานก้นก่อนด้วยลายขัด (ลายขัดบี)ตอกคู่ แล้วค่อยๆ สานต่อขึ้นมาด้านข้างของตะกร้าด้วยลายธรรมดาเรื่อยไปจนถึงปากของตะกร้าซึ่งจะใช้ตอกเส้นเล็กเพื่อความแข็งแรงทนทานปากหรือขอบตะกร้าจะใช้วิธีเก็บนิมโดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวตะกร้า  เสร็จแล้วจะทำหูตะกร้าเพื่อใช้หิ้วหรือหาบ  โดยมากจะใช้ไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่งโค้งเหนือปากตะกร้า แล้วผูกปลายทั้งสองเข้ากับขอบตะกร้า ตะกร้าภาคอีสานจะมีรูปทรงคล้ายๆกันเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันเท่านั้น ตะกร้าชนิดนี้จะใช้ได้ทั้งแบบเป็นคู่และใช้หิ้วเพียงใบเดียว ตั้งแต่ใช้ใส่ผัก ผลไม้ถ่าน และสิ่งของอื่นๆ ไปจนถึงใช้เป็นเชี่ยนหมากสำหรับใส่หมาก เรียกว่า "คุหมาก" หรือบางครั้งใช้ชันยาทำเป็นครุหรือคุสำหรับตักน้ำก็ได้ ชาวอีสานนิยมใช้กะต้ากันทั่วไปเพราะมีน้ำหนักเบาทำได้ง่าย ราคาถูกกว่าภาชนะชนิดอื่น
         อย่างไรก็ตาม ตะกร้าสานของอีสานถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องจักสานที่มีรูปทรงและลวดลายในการสานง่ายๆ ไม่ละเอียดประณีต แต่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ใช้กันแพร่หลาย เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นชนิดหนึ่งของอีสาน จะพบเห็นชาวอีสานหิ้วตะกร้าหรือหาบตะกร้านี้ทั่วไป
          นอกจากตะกร้าหรือกะต้าที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสานหรือถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานอีสานดังกล่าวแล้ว ในภาคอีสานยังมีเครื่องจักสานที่น่าสนใจอีกหลายอย่างแต่ส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวันก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือเครื่องมือจับและดักสัตว์น้ำเช่น ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหมและการทอผ้า เช่น กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน ได้แก่ เบ็งหมากสำหรับใส่ดอกไม้และเครื่องบูชาต่างๆ และก่องข้าวขวัญสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น
3.2 เครื่องปั้นดินเผา
            เครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานนี้สันนิษฐานได้ว่ามีมาก่อนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งนักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องปั้นดินเผาในหลุมศพ ซึ่งเป็นประเพณีของคนสมัยก่อน ในภาคอีสาน และได้พบแหล่งที่เป็นศูนย์ผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญในภาคอีสานนั้นก็คือ บริเวณบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี สันนิษฐานได้ว่ามีอายุประมาณ 6000 ปีเศษมาแล้ว ในยุคต้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นเพียงภาชนะดินเผาทั่วไป บนเครื่องปั้นดินเผาจะมีลวดลายสีแดงทับลงไป สีที่ใช้คือสีดินเทศ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงนั้น จะสามารถแบ่งเป็นกลุ่มลวดลายออกได้ เช่น
1.      ลายก้านขดและก้นหอย
2.      ลายรูปเลขเลขาคณิต
3.      ลายดอกไม้
4.      ลายรูปสัตว์  เป็นต้น
การทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานนี้ได้สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคนโดยไม่ค่อยได้มีการ
เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก กรรมวิธีการทำได้คงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงทำให้เอกลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานยังคงสวยงามเหมือนเก่า
            ดินที่ชาวภาคอีสานใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้นใช้ดินที่อยู่ใกล้ๆ บ้านนำมาผสมกับดินเชื้อ และนิยมนำมานวดบนหนังควาย แต่ปัจจุบันกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอาจจะเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนก่อนทำให้ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาแตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงควรอนุรักษ์ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาของภาคอีสานไว้
            เครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของชาวอีสาน คือ
ด่านเกวียน เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไว้มาก แหล่งกำเนิดอยู่ที่ หมู่บ้านด่านเกวียน ตท่าอาง อ.โชคชัย จ. นครราชสีมา
            ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาที่นี่คือ
1.มีความมันวาวในตัวเองโดยธรรมชาติ ที่มีมาจากดิน
2.มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจ เป็นการเอาแบบทั้งสมัยก่อนและสมัยใหม่มาปั้นเป็นรูปแบบที่สวยงาม และในบางครั้งยังมีการปั้นเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ซึ่งของทุกอย่างที่ปั้นภายในจะมีลักษณะกลวง และเตาเผาของที่นี่ จะมีลักษณะเหมือนเตาทุเรียงในสมัยสุโขทัย
                บ้านเชียงวัฒนธรรมบ้านเชียง แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
1.สมัยตอนต้นของบ้านเชียง มีอายุราว 3600 1000 ปีก่อนคริสตฯ ช่วงแรกบ้านเชียงได้เพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลัก การฝังศพในสมัยนี้มี 3 ลักษณะ คือ วางศพในท่านอนงอเข่า นอนหงายเหยียดยาว และบรรจุศพในภาชนะดินเผาแล้วนำไปฝัง ( ศพเด็ก) ส่วนใหญ่มีการนำภาชนะดินเผาใส่ลงไปในหลุมฝังศพและใช้เป็นเครื่องประดับให้ผู้ตายด้วย
        ภาชนะดินเผาของบ้านเชียงสมัยต้น
                ระยะที่ 1 เป็นภาชนะดินเผาสีดำหรือเทาเข้ม ภาชนะครึ่งบนตกแต่งด้วยลายขีดเส้นโค้ง ส่วนล่างตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ
                ระยะที่ 2 เริ่มมีการนัดศพเด็กมาบรรจุในภาชนะดินเผาก่อนฝัง มีการตกแต่งเป็นลายคดโค้งและมีลายขีดถี่ๆ
                ระยะที่ 3 เริ่มปรากฏภาชนะดินเผาที่ด้านข้างเกือบตรง ทำให้มีรูปร่างคล้ายทรงกระบอกและมีภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลมคอสั้นแต่งด้วยลายเชือกทาบ
                ระยะที่ 4 เริ่มมีภาชนะดินเผาประเภทหม้อก้นกลม ไหล่ภาชนะดินเผาแต่งด้วยลายเส้นขีด บริเวณลำตัวตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เรียกเครื่องปั้นดินเผานี้ว่า ภาชนะแบบบ้านอ้อมแก้ว
2. สมัยกลางของบ้านเชียง    มีอายุราว 1000 300 ปี ก่อนคริสตฯ ยังคงมีการฝังศพในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวอยู่ โดยนำภาชนะเครื่องปั้นดินเผามาทุบในแตกแล้วโรยคลุมทับศพ
         ภาชนะดินเผาสมัยกลางของบ้านเชียง
                ภาชนะดินเผาที่เด่นที่สุดคือ ภาชนะดินเผาที่มีผิวนอกสีขาว ไหล่ภาชนะหักเป็นมุมหรือโค้งอย่างชัดเจน มีทั้งแบบก้นกลมและก้นแหลม ในช่วงนี้เริ่มมีการแต่งบริเวณปากภาชนะดินเผาด้วยการทาสีแดง
3. สมัยปลายบ้านเชียง  มีอายุราว 300ปี ก่อนคริสตฯ มีประเพณีการฝังศพเช่นเดียวกับในยุคกลาง
         ภาชนะดินเผาสมัยปลายของบ้านเชียง
                ในช่วงต้นพบภาชนะดินเผาเขียนลายสีแดงบนพื้นสีขาวนวล ในช่วงปลายมีการเขียนลายสีแดงและช่วงสุดท้ายเริ่มมีภาชนะดินเผาฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน
3.3 การทอผ้า
                ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ ๑๘ จังหวัด ประกอบด้วยกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ มากกว่า ๒๐ ชาติพันธ์ ส่วนมากเป็นกลุ่มชนชาวไทยเชื้อสายไท-ลาว หรือชนเผ่าไท-ลาว ที่คนไทยภาคอื่นมักเรียกว่า  ลาว  เป็นกลุ่มชาติพันธ์ใหญ่สุดของภาคอีสาน  ภาคอีสานมีพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด  หรือประมาณ ๑๗๐๒๒๖ ตารางกิโลเมตร กลุ่มไท-ลาวเหล่านี้กรระจายอยู๋ทัวไปแทบทุกจังหวัด  และสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้ กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดเลย  นครราชสีมา และชัยภูมิ มีความใกล้ชิดกับหลวงพระบาง  กลุ่มชนในเขตจังหวัดหนองคาย  อุดรธานี ขอนแก่น มีความใกล้ชิดกับเวียงจันทน์  กลุ่มชนในเขตจังหวัดนครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์  เป็นกลุ่มผู้ไทหรือภูไท  กลุ่มชนที่อยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร และมหาสารคาม  โน้มเอียงไปทางจำปาสัก  กลุ่มชนในบริเวณภาคอีสานมิได้มีเฉพาะคนไท-ลาวเท่านั้น ยังมีกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ อีกเช่น ข่า กระโส้ กะเลิง ส่วย และเขมร โดยเฉพาะเขมรและส่วยซึ่งกระจายกันอยู่ในบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์
                การตั้งถิ่นฐานในบริเวณภาคอีสานของกลุ่มชนเผ่าไทเชื้อสายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มไท-ลาว เป็นกลุ่มชนที่มีก่รผลิตผ้าพื้นบ้านของอีสานแพร่หลายที่สุด แต่ยังแยกเป็นกลุ่มย่อยตามวัฒนธรรมได้อีกหลายกลุ่ม เช่น ลาวกาว ลาวพวน ลาวโซ่ง ลาวคั่ง กลุ่มชนเหล่านี้มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่วัฒนธรรมการทอผ้าและการใช้ผ้าอาจแตกต่างกันบ้าง กลุ่มชนเหล่านี้มีชาติพันธ์เดียวกันและมีถิ่นกำเนิดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง  ตั้งแต่เขตเมืองสิงห์ทางตอนใต้ของแคว้นสิบสองปันนาในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ลงมาจนถึงแคว้นสิบสองจุไทหรือเดียนเบียนฟูในประเทศเวียดนาม  ครอบคลุมลงมาถึบริเวณแคว้นตรันนินท์ของญวน  ชนกลุ่มนี้ได้ร่วมก่อสร้างเมืองขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ มาช้านานแล้ว เมื่อพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ในทำนองที่มีความสัมพันธ์กับตำนานแล้วจะเห็นว่า   แหล่งกำเนิดของคนที่ต่อมากลายเป็นคนไท ลาว ญวน และฮ่อนั้นมาจากบริเวณกลุ่มแม่น้ำดำ  แคว้นสิบสองจุไท  แล้วกระจายไปยังลุ่มน้ำต่างๆ กลุ่มหนึ่งมาทางลุ่มแม่น้ำโขงทางด้านตะวันตกและทางด้านใต้คือพวกไท-ลาว  และได้สร้างอาณาจักรล้านช้างขึ้นที่หลวงพระบาง  มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันเรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม ซึ่งร่วมสมัยกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ แห่งกรุงสุโขทัย  พระเจ้าฟ้างุ้มได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง  ตีได้เมืองเวียงจันทน์  เวียงคำ  เมืองโคตรบอง  และบางส่วนของลุ่มแม่น้ำชีในภาคอีสาน  ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มถูกปลดออกจากราชสมบัติและหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองน่าน  โอรสชื่อเท้าอุ่นเรือนได้ครองราชย์แทนทรงพระนามว่า  พรเจ้าสามแสนไท  ต่อมาเป็นกษัตริย์ที่สำคัญองค์หนึ่ง  พงศาวดารล้านช้างระบุว่าพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับกรุงศรีอยุธยาและเชียงใหม่  สมัยพระเจ้าสามแสนไทตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว พ.ศ. ๑๙๑๓ ๑๙๓๑) รัชกาลของพระเจ้าสามแสนไทเป็นช่วงเวลาที่ลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคอีสาน มีทั้งที่ตั้งบ้านเมืองขึ้นใหม่และพวกที่อยู่ปะปนกับชาวพื้นเมืองเดิม
               
                อาณาจักรล้านช้างมีกษัตริย์สืบต่อมาทั้งที่สร้างความเจริญให้บ้านเมืองและบางครั้งก็ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อนเกิดความแตกแยกออกเป็นกลุ่มเป็นแคว้น  จนถึงสมัยกรุงธนบุรี  ลาวได้แตกแยกออกเป็นแคว้นต่างๆ ๓ แคว้น  คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก  ต่างฝ่ายต่างแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก  เช่น สยาม ญวน ทำให้ลาวอ่อนแอ จนในที่สุดทั้งสามแคว้นก็ตกเป็นเมืองขึ้นของสยามทั้งหมด
                ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ตรงกับรัชกาลเจ้าอนุวงศ์ของลาวเกิดความขัดแย้งแตกแยกกัน  ทำให้ลาวบางกลุ่มหนีเข้ามาลี้ภัยในบริเวณภาคอีสานสยามให้การสนับสนุนเพราะถือว่าลาวเป็นประเทศราช  จีงส่งเสริมให้มีการตั้งชุมชนเป็นหมู่บ้านเป็นเมืองขึ้นเพื่อขยายประเทศ  อันมีผลต่อการเก็บส่วยและเกณฑ์คนเข้ามารับราชการและใช้แรงงาน  เป็นเหตุให้เกิดเมืองต่าง ๆ ขึ้นในภาคอีสาน  แต่ภายหลังชาวลาวที่เข้ามาอยู่ในภาคอีสานเกิดความขัดแย้งกับเจ้าอนุวงศ์จนเป็นสงครามลุกลามถึงกรุงเทพฯ เกิดเป็นสงครามระหว่างสยามกับลาว  สุดท้ายลาวฝ่ายเจ้าอนุวงศ์พ่ายแพ้  เจ้าอนุวงศ์และครอบครัวถูฏจับเป็นเชลยมายังกรุงเทพฯ  สงครามครั้งนั้นส่งผลให้ประชาชนหลายเผ่าพันธ์ต้องโยกย้ายที่อยู่อาศัย  บางกลุ่มโยกย้ายไปอยู่ในเขตญวน  บางกลุ่มโยกย้ายเข้ามาในเขตไท  และบางพวกถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่ในบริเวณภาคกลาง  เช่น บริเวณจังหวัดชลบุรี เพชรบุรี กำแพงเพชร ปราจีนบุรี  ฉะเทริงเทรา และนครนายก  จากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า  ชาวลาวได้เข้าสู่ดินแดนไทย ๒ ลักษณะ คือ พวกแรกอพยพเข้ามาลี้ภัยตั้งบ้านเมือง  ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในบริเวณภาคอีสาน กลุ่มที่สองถูกกวาดต้อนเข้ามาระหว่างสงคราม  ส่วนมากจะถูกนำมาภาคกลาง  แล้วกระจายกันไปตั้งถิ่นฐานในหลายจังหวัดของภาคกลาง
                รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงจัดการปกครองหัวเมืองภาคตะวันออกเป็นหัวเมืองประเทศราช  ๓ เมือง คือ เวียงจันทน์ นครพนม นครจำปาสัก ให้เมืองนครราชสีมาปกครองเมืองเขมรป่าดง  และเมืองที่ไม่ขึ้นกับประเทศราชทั้งสาม  โดยอนุโลมให้หัวเมืองประเทศราชปกครองกันเองตามธรรมเนียมราชการเดิม  ไม่เข้าไปทำกิจกรรมภายใน  เพียงให้ส่งเครื่องราชบรรณการตามที่กำหนดเท่านั้น  ลักษณะเช่นนี้ปฏิบัติกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๓ ชุมชนลาวที่เข้ามาตั้งบ้านเมืองอยู่ในภาคอีสานนั้นยังคงรับวัฒนธรรมจากล้านช้างเรื่อยมา  เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ เอื้ออำนวยให้ติดต่อใกล้ชิดกันได้สะดวกมากกว่า  เนื่องจากมีเพียงแม่น้ำโขงกั้นเท่านั้น  ประกอบกับอำนาจทางการเมืองของกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและต้นรัตนโกสินทร์ยังไปไม่ถึงดินแดนภาคอีสาน  จึงทำให้ผู้คนแถบล้านช้างที่เข้ามาอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในภาคอีสานของสยามในสมัยนั้น  ไม่ค่อยมีความรู้สึกผูกพันธ์กัยราชสำนักมากนักจนราชสำนักกรุงเทพฯ ต้องจัดส่งข้าหลวงใหญ่ไปปกครองโดยตรงที่เมืองอุบลราชธานีในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เพราะราษฎรในแถบนั้นไม่ยอมรเสียส่วยให้กับทางราชการ โดยอ้างว่าไม่ใช่คนไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีอำนาจปกครองเหนือดินแดนอีสานในระยะนั้นมุ่งผลทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ไม่สนใจเรื่องการผลิตฝ้ายและไหมซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ต่างๆ เลยแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่การผลิตฝ้ายและไหมในภาคอีสานรับวัฒนธรรมจากล้านช้างซึ่งทำใช้กันเอง ส่วนราชสำนักสั่งซื้อผ้าจากต่างประเทศมาใช้
                ต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาด้วยเหตุผลทางการเมืองและทางยุทธศาสตร์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ กระทั่ง พ.ศ. ๒๔๔๕ กระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่ทราบว่ามีแหล่งเลี้ยงไหมอยู่ในภาคอีสานเป็นเวลานานแล้ว เพราะจากรายงานการตรวจการมณฑลนครราชสีมาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๘๖) ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พบแต่เพียงว่าสินค้าส่งออกของท้องถิ่นภาคอีสานมีแต่พวกของป่าในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่มีสินค้าพวกผ้าไหม ไหมดิบ และไหมอื่นๆ เลย

                ต่อมาเมื่อประเทศไทยยอมรับคำแนะนำของฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตโดยถือระบบการค้าไหมดิบของญี่ปุ่นเป็นแบบอย่างแล้ว จึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญคือ คาเมทาโร โตยามา (Kametaro Toyama)  เข้ามาสำรวจการเลี้ยงและผลิตไหมในภาคอีสานที่นครราชสีมา ในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ฝ่ายราชการของไทยคือกระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงมหาดไทยต้องรอคอยรายงานการสำรวจของโตยามา เพราะไม่รู้ว่ามีการลุ้นยงและผลิตไหมในภาคอีสานมาก่อนดังกล่าวแล้ว จนเมื่อได้รับรายงานแล้วจึงรู้ว่าเกือบทุกหมู่บ้านของภาคอีสานมีการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายด้วยวิธีมัดหมี่ ขิด จก ฯลฯ อยู่ก่อนแล้ว
                นอกจากกลุ่มชนเชื้อสายลาวซึงมีวัฒนธรรมการทอผ้าเป็นกลุ่มชนใหญ่ที่มีเอกลักษณ์ กรรมวิธี และรูปแบบของผ้าเป็นของตนเองแล้ว ยังมีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมการทอผ้าปรากฏมาจปัจจุบันอีกสองกลุ่มคือ กลุ่มผู้ไทและกลุ่มชนเชื้อสายเขมร กลุ่มผู้ไท ทั้งผู้ไทดำ ผู้ไทขาว และผู้ไทแดงเคยอยู่ในดินแดนล้านช้างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงด้วยกัน ก่อนอพยพเข้าสู่ภาคอีสานในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๓๙๔) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นชนกลุ่มน้อยในภาคอีสานที่มีลักษณะพิเศษคือ  ชอบอยู่เป็นกลุ่มอย่างโดดเดี่ยวเป็นอิสระในกลุ่มเผ่าพันธ์ของตนเอง  แต่เมื่ออยู่ร่วมกันมาก่อนเป็นเวลานาน  จึงมีการผสมผสานทางวัฒนธรรรม  ประเพณี และความเชื่อบางอย่างกับพวกกลุ่มลาวอยู่ไม่น้อย  เมื่อเข้ามาอยู่ในภาคอีสานแล้วก็มีการอพยพเคลื่อนย้ายกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ราบเชิงเขา และบนเขาในเขตจังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร กาฬสินธิ์  ชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมในการทอผ้าที่ค่อนข้างเด่นทั้งด้านสีสันและเทคนิควิธีการทอ
                กลุ่มเขมรหรือกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรเป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งตั้งถิ่นฐานที่กระจายอยู่ทางแถบจังหวัดสุรินทร์  ศรีษะเกษ และบุรีรัมย์ หรืออีสานใต้ ชนกลุ่มนี้อพยพมาจากประเทศเขมรเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒
๒๓ ไล่เลี่ยกันกับพวกส่วย (กวยหรือกุย) ปัจจุบันหลายหมู่บ้านมีทั้งลาว เขมร และส่วยอยู่ร่วมกัน แต่ละกลุ่มมีการทอผ้าที่เป็นลักษณะพิเศษเป็นของงตนเอง
                โดยทั่วไปชาวอีสานมีสังคมแบบเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือการทำนา  ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งแต่เพาะปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวประมาณ ๗-๙ เดือน ในแต่ละปีตลอดฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนเวลาในช่วงฤดูร้อนประมาณ ๓
๕ เดือนที่ว่าง  ชาวอีสานจะทำงานทุกอย่างเพื่อเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการทำบุญประเพณีและการพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสต่าง ๆ เป็นวงจรของการดำรงชีพที่หมุนเวียนเช่นนี้ในแต่ละปี
                “ยามว่างจากงานในนา  ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสาน  ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นงานสำคัญของผู้หญิง  ผ้าที่ทอจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม  ได้แก่ เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) ซ่ง (กางเกง) โสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าพระเวสส์    กระบวนการทอผ้าเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไหม  ปลูกหม่อน ปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้า เริ่มลงมือทอผ้า  ซึ่งมีประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า ลงข่วง
                การทอผ้าที่สำคัญของชาวอีสาน คือ การทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ในครัวเรือน  ผ้าซิ่นของกลุ่มไท-ลาวนิยมใช้ลายขนานกับลำตัวต่างกับซิ่นล้านนาที่นิยมลายขวางลำตัวและนุ่งยาวกรอมเท้า  ชาวไท-ลาวอีสานนิยมนุ่งสูงระดับเข่าหรือเหนือเข่า  การต่อหัวซิ่นและตีนซิ่น ถ้าเป็นซิ่นไหมจะต่อตีนซิ่นด้วยไหม  แต่ถ้าเป็นซ่นฝ้ายก็จะต่อด้วยฝ้าย  ตีนซิ่นจะมีขนาดแคบ ๆ ไม่นิยมเชิงใหญ่  หัวซิ่นนิยมต่อด้วยผ้าไหมชิ้นเดียวทอขิดเป็นลายโบกคว่ำและโบกหงาย  ใช้สีขาวหรือสีแดงเป็นพื้น  ใช้ได้ทั้งกับผ้าซิ่นไหมหรือซิ่นฝ้าย  การต่อตะเข็บและลักษณะการนุ่งจะมีลักษณะจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากภาคอื่นคือ การนุ่งซิ่นจะนุ่งป้ายหน้าเก็บซ่อนตะเข็บ  เวลานุ่งตะเข็บหนึ่งอยู่ข้างหลังสะโพก  ต่างกับการนุ่งซุ่นของชาวล้านนาหรือชาวไทยญวนที่นิยมนุ่งผ้าลายขวางที่มีสองตะเข็บ   เวลานุ่งจึงมีตะเข็บหนี่งอยู่ข้างหลังสะโพก  ไม่เหมือนกับซิ่นของชาวลาวซึ่งซ่อนตะเข็บไว้ด้านหน้าจนไม่เห็นตะเข็บ  สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เป็นประเพณีต่อกันมาแต่อดีต
ตอนที่ 4 ศิลปะพื้นเมืองภาคใต้
    4.1 เครื่องจักสาน
          การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านในแต่ละภาคของไทยมีปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบกำหนดรูปแบบของเครื่องจักสาน โดยเฉพาะสภาพทางภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคต่างๆ เครื่องจักสานพื้นบ้านของภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน ลักษณะภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ ส่งผลถึงการประกอบอาชีพและการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานด้วย
          ภาคใต้เป็นแหล่งที่มีวัตถุดิบที่นำมาใช้ใน    การทำเครื่องจักสานได้หลายชนิด เช่น ไม้ไผ่ หวาย กระจูด และ ย่านลิเภา บริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตเครื่องจักสานของภาคใต้ มีเครื่องจักสานหลายอย่างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ต่างไปจากเครื่องจักสานอื่นๆ เช่นเครื่องจักสานย่านลิเภาที่ทำกันมากในบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช เครื่องจักสานกระจูดทำกันมากในหลายท้องถิ่นในเขตจังหวัดพัทลุง สงขลา และปัตตานี นอกจากนี้ก็มีเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ทำกันทั่วไปแทบทุกจังหวัด
          เครื่องจักสานพื้นบ้านของภาคใต้โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะถิ่นที่น่าสนใจมีหลายชนิดแต่มีเครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่สร้างตามความต้องการในการใช้สอยตามสังคมเกษตรกรรมของชาวใต้ ที่มีความสวยงาม มีลวดลายที่ประณีตและเอื้ออำนวยต่อประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดีทั้งยังสัมพันธ์กับความเชื่อถือของชาวใต้อย่างน่าสนใจยิ่ง คือ กระด้ง ซึ่งชาวใต้เรียกว่า "ด้ง"
          กระด้ง หรือ ด้ง  ที่นิยมใช้กันอยู่ในภาคใต้มี ๒ อย่าง คือ กระด้งฝัดข้าว และกระด้งมอนกระด้งทั้งสองชนิดนี้สานด้วยไม้ไผ่และหวายสำหรับใช้งานเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำไร่ทำนา กระด้งปักษ์ใต้ทั้งสองชนิดเป็นกระด้งที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากกระด้งภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด  ทั้งด้านรูปแบบและลวดลาย
         ด้านรูปแบบของกระด้งฝัดภาคใต้ต่างไปจากกระด้งทั่วๆ ไป คือ จะมีรูปกลมรีคล้ายรูปหัวใจ ส่วนป้านจะกลมมน ส่วนแหลมจะรีเล็กน้อยและการทำกระด้งให้มีลักษณะรีแทนที่จะกลมก็เพื่อความสะดวกในการร่อน ฝัด และเทข้าวออกแสดงให้เห็นการสร้างรูปแบบที่สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอย่างแยบยล
         กระด้งฝัดข้าวของภาคใต้มี ๒ ชนิดคือ"กระด้งลายขอ" และ กระด้งบองหยอง"
         กระด้งลายขอ  เป็นกระด้งฝัดข้าวที่มีรูปแบบและลายสานที่ถือว่าเป็นเครื่องจักสานชั้นเยี่ยมที่ออกแบบรูปร่างและลวดลายประณีตประสานกับการใช้สอยได้เป็นอย่างดี และมีคุณค่าทางความงามด้วย  กระด้งลายขอนิยมสานด้วยตอกไม้ไผ่สีสุก เพราะเป็นไม้ไผ่ที่มีเนื้อแข็งและเหนียว กระด้งลายขอมีลักษณะพิเศษอยู่ที่ตอกซึ่งจะปล่อยข้อปล้องไม้ไผ่ด้านที่เป็นผิวไว้ โดยไม่ได้ตัดออก ตอกด้านนี้จึงมีลักษณะเป็นขออยู่ตามปล้อง ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่า "กระด้งลายขอ" ตอกที่จะเว้นข้อไว้เป็นขอนี้เส้นหนึ่งจะมีข้อเหลือไว้เพียงข้อเดียว เวลาสานผู้สานจะต้องสานวางจังหวะของตอกพิเศษที่มีข้อเหลือไว้แต่ละเส้นให้อยู่กึ่งกลางของกระด้งและเรียงสลับฟันปลาการเหลือข้อไว้บนตอกเพื่อให้เกิดเป็นลายขอบนกึ่งกลางกระด้งนี้ มิได้ทำขึ้นเพื่อความสวยงามแต่อย่างเดียว หากแต่ต้องการให้เกิดประโยชน์ในการฝัดข้าวได้ดีด้วย กระด้งลายขอนี้จะใช้ฝัดข้าวเปลือกที่ผ่านการซ้อมด้วยมือ หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวพื้นบ้านมาแล้ว แต่ยังมีเปลือกข้าวที่เรียกว่า
ขี้ลีบและกาก ปะปนอยู่ จะต้องนำมาฝัดด้วยกระด้งลายขอ ลายขอที่เกิดจากการเว้นข้อไว้บนผิวไม้ไผ่ตามธรรมชาตินี้จะช่วยให้กากข้าวขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการสะดุดกับขอของตอกที่พื้นกระด้งลอยตัวขึ้นบนผิวกระด้ง และจะรวมกันอยู่ตามร่องระหว่างขอตรงกลางกระด้ง จึงฝัดหรือเก็บออกได้ง่าย
         นอกเหนือไปจากรูปแบบและโครงสร้างของกระด้งลายขอที่มีลักษณะเฉพาะที่สนองความต้องการในการใช้สอยได้ดีแล้ว ขั้นตอนและแบบอย่างของลวดลายในการสานกระด้งชนิดนี้ยังมีแบบอย่างที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ตั้งแต่หลักการสานที่คิดเป็นสูตรด้วยคำที่คล้องจองไว้ว่า "ยกสองข่มห้า เรียกว่า ลายบ้าเอย"ที่เรียกว่า "ลายบ้า" คงเป็นเพราะว่าการสานกระด้งชนิดนี้สานยากนั่นเอง ผู้สานจะต้องเป็นช่างฝีมือดี เมื่อสานเสร็จแล้วแนวทางของเส้นตอกจะต้องเป็นแนวมีระเบียบ และลายของปล้องข้อจะเรียงกันได้จังหวะงดงามอยู่ตามด้านหน้ากระด้งส่วนด้านหลังจะเป็นแนวร่องตอกซึ่งเรียกว่า "ดี"กระด้งลายขอนี้ส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่นักและนิยมเรียกแนวดีแทนขนาด เช่น กระด้งขนาด๗ ดี หรือ ๙ ดี เป็นต้น กระด้งที่นิยมใช้กันเป็นกระด้งที่มีลายขอถี่หรือละเอียดมากกว่ากระด้งที่มีลายขอห่างๆ กัน
          กระด้งฝัดข้าวอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นกระด้งที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้ คือ "กระด้งลายบองหยอง" กระด้งชนิดนี้สานง่ายกว่ากระด้งลายขอ การสานกระด้งลายบองหยองใช้ตอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับกระด้งลายขอ  แต่ใช้ตอกเส้นใหญ่กว่าและไม่มีข้อปล้อง เป็นตอกเรียบๆ ธรรมดาผิวหน้ากระด้งจึงเป็นลายเรียบๆ กระด้งชนิดนี้ใช้ฝัดข้าวและเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน
         นอกจากกระด้งทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้วยังมีกระด้งอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า "กระด้งมอน" คำว่า "มอน" เป็นภาษาปักษ์ใต้ หมายถึงกระด้งกลมขนาดใหญ่กว่ากระด้งฝัดข้าวเท่าหนึ่ง ใช้ตากพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เพราะเป็นกระด้งขนาดใหญ่มีเนื้อที่มากกว่ากระด้งทั่วๆ ไป                 
         ลักษณะของกระด้งชนิดต่างๆ ดังกล่าวแล้วจะเห็นว่ากระด้งของภาคใต้เป็นเครื่องจักสานที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่นชนิดหนึ่ง นอกจากนี้กระด้งของภาคใต้เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อของชาวใต้ที่ยึดถือสืบต่อกันมาแต่โบราณด้วย เช่นห้ามนำกระด้งขึ้นไปบนยุ้งข้าว เพราะจะทำให้ขวัญข้าวหรือแม่โพสพหรือเทพธิดาแห่งข้าวไม่พอใจแล้วหนีไปไม่คุ้มครองเป็นมิ่งขวัญ ทำให้การทำนาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ความเชื่อนี้แม้จะหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมแม่โพสพจึงไม่ชอบกระด้งแต่ก็เป็นความเชื่อที่เชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณความเชื่อที่เกี่ยวกับกระด้งอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องเก็บรักษากระด้งไว้ให้ดี  ถือว่ากระด้งเป็นของสำคัญต้องเก็บไว้ในที่สูง เช่น ตามชายคา หรือเหนือเตาไฟในครัวเพื่อให้ควันไฟช่วยรักษาเนื้อไม้ไม่ให้มอดหรือแมลงกัดกิน และช่วยให้เส้นตอกแน่นมีสีดำอมแดงดูสวยงามอยู่เสมอ การที่ชาวบ้านเก็บรักษากระด้งไว้ในที่สูงไม่ให้เด็กนำไปเล่นนั้น อาจจะมาจากความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นผู้มีพระคุณให้ข้าวเลี้ยงชีวิตมนุษย์ จึงควรเก็บรักษากระด้งฝัดข้าวไว้ให้ดี การเก็บรักษากระด้งนี้นอกจากจะใช้ควันไฟจากการหุงหาอาหารช่วยเคลือบผิวแล้ว บางครั้งจะทำด้วยน้ำมันยางทาขี้ชันผสมรำข้าว ซึ่งจะช่วยให้ใช้ได้นาน
          ถ้าพิจารณาจากความเชื่อนี้แล้ว จะเห็นว่าเป็นอุบายของคนโบราณที่จะรักษากระด้งไว้ให้คงทน ใช้งานได้นาน เพราะกระด้งสานยากจะต้องใช้ความละเอียดประณีตมาก การสานกระด้งลายขอและกระด้งชนิดอื่นๆ ของภาคใต้ยังมีสานกันอยู่บริเวณพื้นที่ราบที่มีการทำไร่ ทำนา ได้แก่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังมีช่างสานกระด้งลายขอฝีมือดีอยู่บ้างแต่ไม่มากนักเพราะการสานกระด้งลายขอต้องใช้ความพยายามและต้องมีความละเอียดประณีตใช้เวลามาก
          อย่างไรก็ตาม กระด้งลายขอ กระด้งลายบองหยอง และกระด้งมอน ของภาคใต้ เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นชัดเจนอย่างหนึ่งของภาคใต้
          นอกเหนือไปจากสภาพทางภูมิศาสตร์สภาพการดำรงชีวิต ความเชื่อ ขนบประเพณีและศาสนา ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างเครื่องจักสานแล้ว วัตถุดิบท้องถิ่นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เครื่องจักสานมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ต่างไปจากภาคอื่นๆ ด้วย วัตถุดิบพื้นบ้านที่ใช้ทำเครื่องจักสานภาคใต้มีหลายชนิด เช่นไม้ไผ่ หวาย ย่านลิเภา กระจูด ใบลำเจียก เตย ใบตาล และคล้า เป็นต้น
          เครื่องจักสานพื้นบ้านภาคใต้ยังมีอีกหลายชนิด หากแบ่งออกตามวัตถุดิบที่นำมาใช้สาน จะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
         เครื่องจักสานที่ทำด้วยหวาย และไม้ไผ่ มีหลายชนิด ตั้งแต่เครื่องมือดักและจับสัตว์น้ำ ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ กระเชอ จงโคล่โต๊ระ สีหล้า (หรือสี้ละ) เครื่องสีข้าวเซงเลง ข้อง โพง นาง ไซ นั่งได้ นอนได้ และข้องดักปลาไหล เป็นต้น
         เครื่องจักสานที่ทำจากกระจูด ใบลำเจียกหรือปาหนัน เตย ใบตาล ซึ่งนำมาทำเครื่องจักสานประเภทภาชนะและเสื่อมีทำกันในหลายท้องถิ่น
         นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจักสานบางชนิดที่ทำด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่เฉพาะบางท้องถิ่นเท่านั้น ได้แก่เครื่องจักสานที่ทำจาก  ต้นคล้า ใบจาก กาบหลาวโอน ย่านลิเภา เป็นต้น
         เครื่องจักสานชนิดต่างๆ ของภาคใต้ดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่าบางชนิดเป็นเครื่องจักสานที่มีประโยชน์ในการใช้สอยเช่นเดียวกับเครื่องจักสานภาคอื่น แต่มีรูปแบบ ลวดลาย และใช้วัตถุดิบที่แตกต่างไปจากเครื่องจักสานภาคอื่นๆ มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
4.2 เครื่องปั้นดินเผา
                ในภาคใต้นี้การทำเครื่องปั้นดินเผายังมีไม่มากนัก ในช่วงก่อนประวัติศาสตร์  เพราะยังไม่พบแหล่งผลิตจนมีผู้ค้นพบเศษเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทั่วไป และได้พบเครื่องปั้นดินเผาแบบเอิร์ธเทินแวร์ บริเวณอ.สทิงพระ อ.เมืองสงขลา ซึ่งเป็นแบบจีนกระจายอยู่ทั่วไป เป็นของราชวงศ์จีนสมัยถัง ซ้องเหมิน จากการขุดพบจึงทำให้รู้ว่าบริเวณปากอ่าวทะเลสาบสงขลาเป็นที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผาในภาคใต้ ถึงแม้ว่าเครื่องปั้นดินเผาในภาคใต้จะไม่เป็นที่แพร่หลายมาก แต่ก็ยังมีการปั้นอยู่เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สถานที่ทำเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น เครื่องปั้นดินเผาสทิงหม้อ บ้านนอกไร่ เป็นต้น
            ลักษณะการทำเครื่องปั้นดินเผาของภาคใต้แตกต่างไปจากที่อื่นๆ คือมีการใช้แป้นหมุน และการเผาจะไม่เผากลางแจ้งจะใช้เตาเผา จึงทำให้เนื้อแข็งแรง โดยใช้ฟางทำ เราเรียกวิธีนี้ว่า การเผาดาด
             ทางภาคใต้จะหาดินจากบริเวณใกล้เคียงจากแหล่งที่ผลิต และนำดินมานวด ผสมกับทรายที่เป็นลักษณะของภาคใต้โดยเฉพาะ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทางภาคใต้มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาน้อยมาก บางครอบครัวก็พากันเลิกไปกันหมด เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนหันไปใช้อย่างอื่นกันหมด ดังนั้น เราจึงควรให้ความรู้กับผู้ผลิตว่า เราควรจะทำอย่างไรที่จะดึงดูดคนให้ซื้อเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้ โดยยังคงรักษากรรมวิธีการผลิตและรูปแบบคงเดิม
4.3 การทอผ้า
                ผ้าที่ทอในบริเวณดินแดนภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจรดเขตประเทศมาเลเซีย ที่มีความยาวของพื้นที่ประมาณ ๗๕๐ กิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นแผ่นดินแคบและคาบสมุทร ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกทอดไปตามอ่าวไทย ได้แก่ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส จากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกขึ้นไปทางด้านทิศตะวันตกบนผืนแผ่นดินมีเทือกเขาสำคัญที่เป็นสันของคาบสมุทร ได้แก่ เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ต่อเชื่อมมาจากเทือกเขาหิมาลัย ทอดยาวลงไปจนถึงเขตจังหวัดกระบี่ ต่อลงไปเป็นเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาสันกาลาคีรีทอดยาวลงไปจนสุดเขตประเทศไทย เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสำคัญๆ ของภาคใต้ที่ไหลจากทิศตะวันตกผ่านที่ราบไปสู่ทะเลด้านทิศตะวันออก ทำให้เกิดปากแม่น้ำเป็นอ่าวสำหรับจอดเรือเพื่อการคมมนาคมและท่าเรือประมงได้เป็นอย่างดี เช่น อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน และอ่าวสงขลา นอกจากนี้แม่น้ำเหล่านี้ยังนำความชุ่มชื้นไปสู่บริเวณภาคใต้ ทำให้เกิดอาชีพเกษตรกรรมในที่ราบผืนแผ่นดิน ทั้งยังนำโคลนตมไปทับถมกันในบริเวณปากแม่น้ำ ผสานเข้ากับทรายที่เกิดจากการพัดเข้าหาฝั่งของคลื่นลมจากทิศตะวันออก ทำให้เกิดสันทรายที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและการตั้งถิ่นฐาน จึงทำให้เกิดชุมชนตลอดแนวชายผั่งมาแต่โบราณ
                ลักษณะเช่นนี้นอกจากทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเชื้อชาติแล้ว ยังก่อให้เกิดการผสมผสานดันด้านวัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมการทอผ้าของปักษ์ใต้ ส่วนหนึ่งจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนที่จะกระจายไปสู่ที่อื่นๆ การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชนั้นกล่าวกันว่า เริ่มตั้งแต่สมัยเจ้าพระยานครศรีธรรมราชยกทัพไปปราบขบถเมืองไทรบุรี แล้วกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวไทรบุรีได้สอนการทอผ้ายกให้เด็กสาวและลูกหลานของกรมการเมือง ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจ กล่าวกันว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ให้ความสนใจการทอผ้ามาก จนถึงขั้นเคยมีเรื่องหมางใจกับเจ้าเมืองสงขลาในปีพ.ศ. ๒๓๒๐ เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราชสั่งให้กรมการเมืองออกไปเกณฑ์เอาช่างทอผ้าซึ่งเป็นบุตรสาวของกรมการเมืองสงขลา และบุตรสาวของราษฎรเมืองสงขลาเข้ามาไว้ที่เมืองนครศรีธรรมราช หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ เจ้าเมืองสงขลาไม่พอใจ จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใช้อำนาจกับชาวเมืองสงขลาเกินขอบเขต
                เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แล้วสืบต่อมาเรื่อยๆ จากการทอผ้ายกสำหรับใช้ในหมู่เจ้าเมือง และกรมการเมืองชั้นสูงก่อนที่แพร่หลายไปสู่ชาวเมืองและประชาชนทั่วไป
                ผ้ายกนครศรีธรรมราช หรือ ผ้ายกเมืองนครฯ โดยเฉพาะผ้ายกทองเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงมากในสมัยโบราณ ผ้าทอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของภาคใต้อีกประเภทหนึ่งคือ ผ้าทอพุมเรียง ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไชยาไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร ประชาชนในตำบลพุมเรียงนั้นมีทั้งที่นับถือพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เฉพาะกลุ่มที่ทอผ้านั้นส่วนมากเป็นไทยมุสลิม กล่าวกันว่าถูกกวาดต้อนมาจากไทรบุรีคราวเดียวกับพวกช่างทองและช่างทอผ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช การทอผ้าที่พุมเรียงนั้นแต่เดิมคงจะเป็นการทอผ้าขึ้นใช้ในครัวเรือนและกลุ่มชนของตน
                บริเวณพื้นที่ชายผั่งทะเลด้านตะวันตกของภาคใต้เป็นบริเวณที่มีวัฒนธรรมผสมกันระหว่างพ่อค้าต่างชาติและคนพื้นเมือง โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำมาหากิน ตั้งถิ่นฐาน ทำเหมืองแร่และเกษตรกรรม บริเวณจังหวัดตรังเป็นบริเวณหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวจีน การเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นมักจะนำวิชาชีพที่ตนมีความชำนาญติดตัวไปด้วยเสมอ จนเมื่อตั้งถิ่นฐานได้อย่างมั่นคงแล้วก็จะประกอบอาชีพและทำงานที่ตนถนัดขึ้นในกลุ่มของตน รวมทั้งการทอผ้าด้วย เช่น ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ
                นอกจากผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้ายกนครศรีธรรมราช ผ้าพุมเรียง ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ ยังมีผ้าพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมให้ทอขึ้นใหม่ในหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดพัทลุง กระบี่ ยะลา และปัตตานี  ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้ายกปัตตานี ผ้าจวนตานี ที่มีชื่อเสียง จนถึงการทำผ้าปาเต๊ะในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านเหล่านี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่มีฝีมือเท่านั้น
4.4 การทำหนังตะลุง
ประวัติความเป็นมาของรูปหนังตะลุง จากหลักฐานทราบว่า บริเวณที่อียิปต์ กรีก ตุรกี ซีเรีย อาฟริกาเหนือ บริเวณเหล่านี้มีหนังมาก่อน โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้ครองอาณาจักรมาสิโดเนีย ได้ใช้เวลาในการพิชิตโลก ๑๑ ปี เมื่อพระองค์เข้าเหยียบแดนไอยคุปต์ พระองค์ถือว่าท่านเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง เมื่อได้เข้ามาเยี่ยมเทพสถานอำมอนรา เมื่อกลับออกมาหัวหน้านักพรตยกย่องพระองค์ว่าทรงเป็นโอรสของอำมอนราแล้ว ในการนั้นได้มีการเฉลิมฉลองการเป็นโอรสของพระองค์ ได้มีการแสดงหนังของไอยคุปต์ เมื่อพระองค์เดินทางเข้าสู่แคว้นปัญจาบของอินเดีย ก็ได้นำศิลปศาสตร์ของกรีกเข้ามาด้วยแล้วต่อไปยังจีนและแพร่หลายไปในที่อื่นๆ ในเอเชียแต่นั้นมา ซึ่งประเทศต่างๆ ที่พระองค์นำศิลปศาสตร์เข้าไป เช่น อินเดีย จีน ก็นำไปดัดแปลงให้เข้ากับอารยธรรมของตน

                เมื่ออินเดียรับอารยธรรมของกรีกและอียิปต์เข้ามา ในขณะเดียวกันอินเดียก็มีอารยธรรมอันสูงส่ง มีศาสนาพราหมณ์เป็นเจ้าอยู่ ก็นำมาปรับเข้ากับศาสนาและความเชื่อของตนแล้วนำแพร่ขยายลงไปยังอินเดียใต้ จีน เขมร ลาว ไทย ชวา มาลายู บาหลี ฯลฯ วิธีการเล่นหนังเมื่อไปถึงประเทศใด ประเทศนั้นก็รับเอาวิธีการปรับให้เข้าความเชื่อ ประเพณี ศาสนา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของตน เช่น เป็นหนังจีน หนังใหญ่ หนัง Sbek ของเขมร หนังชวา หนังบาหลี หนังทมิฬ และหนังตะลุงของไทย
การเล่นหนังในสมัยแรกๆ น่าจะเป็นหุ่น รูปหุ่นเห็นได้ทุกๆด้านเมื่อออกมาสู่หน้าจอมีไฟสว่างเห็นสีสันได้อย่างชัดเจน ต่อมาได้พัฒนาจากการเล่นหุ่นมาเป็นการเล่นเงา (Shadow Puppet) ต้องให้แสงส่องผ่านทะลุจึงจะเห็นเงาชัดเจน มิฉะนั้นจะเป็นรูปทึบมองไม่ออกว่าเป็นรูปอะไร จึงมีการฉลุลวดลายขึ้นตามศิลปะในท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ ทำให้เกิดสีสันสวยงามขึ้นเมื่อมีแสงไฟลอดผ่าน ความจริงนี้เราสามารถสังเกตได้จากรูปหนังสมัยก่อน ใช้หนังหนาแสงลอดผ่านไม่ได้แสงขับสีสันออกมาไม่ได้จึงมองเห็นเป็นรูปทึบ แต่ก็เหมาะที่เล่นกลางวันอย่างเช่น หนังชวาและการเล่นหนังใหญ่ของไทย ต่อมาได้มีการพัฒนาการฟอกหนัง เพื่อให้หนังบางเมื่อนำมาแกะสลักเป็นรูปหนังแสงไฟก็จะขับสีสันออกมาให้เห็นได้อย่างสวยงามยิ่งขึ้นตามที่ปรากฏในรูปหนังตะลุงในปัจจุบัน
                การแกะรูปหนังตะลุง ผู้แกะรูปหนังหรือศิลปินจะต้องมีพื้นความรู้ มีความคิด มีจินตนาการ และประสบการณ์ เมื่อแกะรูปออกมาแล้วจะต้องสอดคล้องกับประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และการแต่งกายของท้องถิ่นหรือประเทศนั้นๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. รูปหนังชวา (Wayang  Jawa) รูปหนังของชวาหน้าตาจะไม่เหมือนคน เพราะชวาถือว่าเรื่องที่เล่นเป็นของสูง เป็นเทวดา เช่น เรื่อง มหาภารตะและ รามายณะหรือเรื่องที่มีอยู่เดิมในบ้านก็มี คือ อิเหนา ฉะนั้นเทวดารูปร่างหน้าตาจะเหมือนคนไม่ได้
2. รูปหนังใหญ่ของไทย หนังใหญ่ของไทยเข้าใจว่าแบบอย่างจากอินเดีย แต่ความคิดและจินตนาการก็เป็นแบบไทย เพราะเราได้แต่วิธีการและเรื่องมา รูปหนังเป็นแผ่นใหญ่มีเรื่องราวเป็นฉากๆแบบเดียวกับของอินเดีย เช่น มีปราสาท เรือน รูปหนังทำด้วยหนังทั้งผืน ใช้ไม้หนีบ (ไม้ตับ) ๒ อัน และไม้สำหรับเชิดมือ ส่วนศิลปะหน้าตาและอื่นๆก็เป็นแบบของไทยเอง
3. รูปหนังวายังเซียม (Wayang Siam) วายังเซียม คือ หนังไทย มีเล่นอยู่ตามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทางตอนเหนือของมาเลเซีย เป็นหนังผสมกันระหว่างหนังชวากับหนังตะลุงของไทย แต่ก็ยังมีรูปหนังคล้ายๆ หนังชวาบ้าง เช่น แดหวอ (เทวดา) เป็นต้น
                การสร้างรูปหนังไทย จากการศึกษาค้นคว้า สรุปได้ว่า หนังของไทยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ ลักษณะของรูปหนังเป็นแบบรูปหนังใหญ่ ต่อมาอาจจะเห็นว่ารูปหนังใหญ่เป็นรูปใหญ่มาก ทำด้วยหนังทั้งผืน หากมีรูปมากก็ยากต่อการขนย้ายจึงค่อย ๆ ลดขนาดของรูปให้เล็กลง จากรูปหนังใหญ่ก็กลายเป็นรูปเล็ก หรือภายหลังเรียกว่า หนังตะลุงเท่าที่ปรากฏหลักฐานทางกรุงเทพมหานคร เรียกว่า หนังตะลุง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก่อนแต่นี้เรียกว่า หนังคนทางภาคใต้ก็เรียกว่า หนังไม่มีคำว่า ตะลุง แต่เมื่อมีคำว่า ตะลุง เกิดขึ้น หนังเดิมที่คนกรุงเทพฯ เคยรู้จักก็ได้ชื่อว่า หนังใหญ่ ประชาชนทางภาคใต้ เมื่อประมาณ ๔๐ ปีมาแล้ว เรียกหนังตะลุงว่า หนัง อย่างเช่นชาวบ้านจะพูดว่า ไปแลหนังไหรเล่น” (หนังอะไร) หรือ หนังเลิกต่อมาภายหลังคนภาคใต้รู้ว่าหนังที่ตนดูนั้นชาวกรุงเทพฯเรียกว่า หนังตะลุง
                ศิลปะในการแกะรูปหนังถ่ายทอดมาจากหนังใหญ่ ยึดแบบหนังใหญ่เป็นหลัก ในการสร้างภายหลังได้มีการดัดแปลงปรับปรุงตามท้องถิ่นตามกาลเวลา วิธีการเล่นอาจนำการเล่นแบบชวามาเล่นบ้าง แล้วก็พัฒนาไปตามแบบของตน
                ช่างแกะรูปหนังตะลุงเป็นผู้มีความรู้ มีฝีมือทางศิลปะ มีพื้นความรู้ทางประเพณี วัฒนธรรมทุกด้าน มีประสบการณ์ รู้จักใช้จินตนาการรวมทั้งขนบนิยมในการสร้าง ช่างแกะรูปหนังตะลุง แบ่งเป็น 2 พวก คือ
1. นายหนังเป็นช่างแกะเอง นายหนังตะลุงหลายคนที่มีนิยายในการเล่นเป็นของตนเองหมายถึงตนเองเป็นผู้ประพันธ์ขึ้นมา เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์สูงก็สามารถแกะสลักรูปหนังออกมาตามที่ตนคิด รูปที่แกะออกมาก็จะสมใจผู้เป็นนายหนังมากที่สุด
2. ช่างแกะรูปหนังโดยเฉพาะ บุคคลกลุ่มนี้จะมีอาชีพเป็นช่างแกะรูปหนังโดยเฉพาะเล่นหนังไม่เป็น รู้ถึงความต้องการของนายหนังที่มาสั่งแกะรูป ส่วนมากจะมีอาชีพอื่นประกอบอยู่แล้วงานแกะรูปเป็นงานอดิเรก สามารถแกะรูปหนังตามรูปลักษณ์ที่นายหนังต้องการ บางครั้งก็แกะรูปหนังเตรียมไว้มากมาย รอนายหนังเป็นผู้ไปเลือกซื้อ แต่ส่วนมากจะแกะตามรูปลักษณ์ที่นายหนังไปชี้แนะ
                การแกะรูปหนังตะลุง เป็นงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมานานหลายร้อยปี วัตถุประสงค์หลักของการแกะรูปหนังตะลุงในอดีตก็เพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงเท่านั้น เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในครอบครัวของตนหรือเรียนรู้ด้วยการฝึกหัด ฝึกฝนเป็นหลัก จากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านของตน ซึ่งการแกะรูปหนังตะลุงนั้นมักจะแกะอยู่ในกรอบของวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งรูปแบบและลวดลาย ที่มีคุณค่าด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. คุณค่าด้านสังคม สามารถก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืน ตั้งแต่ด้านครอบครัว ด้านชุมชน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้
    1.1 ด้านครอบครัว การเรียนรู้สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ จากพ่อสู่ลูก ส่งผล
ครอบครัวมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด ก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ความผูกพันอันทรงคุณค่ายิ่งในครอบครัว
    1.2 ด้านชุมชน การเรียนรู้การแกะรูปหนังตะลุงในหมู่เพื่อนบ้านและการที่หลายๆ ครอบครัวได้เข้ามารวมกลุ่มแกะหนังตะลุงขึ้นมาเป็นการใช้กระบวนการทำงานแบบการรวมกลุ่มทำงานในรูปแบบของสมาชิกกลุ่ม ทำให้มีการเคารพต่อกันและการอาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่นภายใต้กฎระเบียบสังคมเดียวกัน ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืน
    1.3 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน เมื่อมีกลุ่มแกะหนังตะลุงเกิดขึ้นในชุมชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาตลาดภายนอกชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นๆ อีกด้วย
1.4 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าจากการที่รูปหนังตะลุงที่แกะเป็นของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่แกะจากหนังวัว หนังควายนั้น เป็นที่สนใจของคนทั่วไปและชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ถือได้ว่าการแกะรูปหนังตะลุงเป็นงานศิลปหัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงและของภาคใต้ เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่สามารถเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม ทัศนศึกษาและได้ซื้อผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านการแกะรูปหนังตะลุงกลับไปสู่ประเทศของตน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของตน ที่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่ต่างประเทศได้และเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับต่างประเทศ ทำให้ภูมิปัญญาไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้นตามมาด้วย
2. คุณค่าด้านศาสนา ความเชื่อในด้านศาสนาที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยจะแกะหนังเป็นรูปพระเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและกราบไหว้สักการะบูชา
 
3. คุณค่าด้านวัฒนธรรม อันประกอบด้วย
    3.1 ด้านความเชื่อ ช่างแกะหนังในจังหวัดพัทลุง มีวัฒนธรรมความเชื่อถือผีบรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ครูช่าง โดยความเชื่อนับถือครูบาอาจารย์ที่ประสาทวิชาความรู้การแกะหนังตะลุงมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และไหว้วิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นความเชื่อว่า วิญญาณของบรรพบุรุษยังมีความรักความห่วงใยลูกหลาน คอยพิทักษ์รักษาดูแลทุกคนในวงเครือญาติให้อยู่อย่างปลอดภัย มีความเจริญในหน้าที่การงาน นอกจากจะมีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษแล้ว ยังมีความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ช่างแกะหนังตะลุงมีความเชื่อว่า การทำรูปหนังพวกฤาษี รูปตัวตลก จะนิยมใช้หนังหมี หนังเสือมาแกะรูป ส่วนรูปหนังพระอิศวร พระนารายณ์ ใช้หนังวัวที่ถูกเสือกัดตาย หรือออกลูกหรือถูกฟ้าผ่าตาย เรียกว่า ตายพราย วัวที่ถูกฟ้าผ่าตายและหนังวัวที่ตายทั้งกลม โดยมีความเชื่อว่าหนังชนิดนี้มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นความเชื่อด้านเหนือสิ่งธรรมชาติ ในเรื่องของภูตผีปีศาจอยู่ ช่างแกะหนังในจังหวัดพัทลุงทุกคนเคารพและนับถือความเชื่อด้านสิ่งเหนือธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ที่ตัวรูปหนังและจะบูชากราบไหว้ และถือว่าตัวรูปหนังดังกล่าวนำความเจริญ โชคลาภ ความดีความงามมาสู่แก่ช่างแกะหนังทุก ๆ คน
                นอกจากความเชื่อดังกล่าวแล้ว ในการแสดงหนังตะลุงก็มีความเชื่อว่า การเชิดรูปพระอิศวร เป็นตัวที่ 2 ต่อจากรูปฤาษี เป็นรูปสำคัญตัวหนึ่งที่หนังตะลุงทุกคณะต้องเชิดตามขนบนิยมทุกครั้งที่มีการแสดง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รูปพระอิศวร เป็นสื่อเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมหนังตะลุงกับคตินิยมตามลัทธิศาสนาพราหมลัทธิไศวนิกายที่ถือเอาพระศิวเทพเป็นใหญ่ในตรีมูรติ (พระศิวะ พระวิษณะ และพระพรหม)
4. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ จากในอดีตการที่ช่างแกะรูปหนังตะลุง แกะเพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงเท่านั้น ทำให้มีการแกะกันเพียงไม่กี่ครัวเรือน ปัจจุบัน การแกะรูปหนังตะลุงมีทั้งแกะสำหรับการแสดงและแกะเพื่อเป็นสินค้า เป็นของที่ระลึก และใช้ประดับตกแต่ง ทำให้การแกะรูปหนังตะลุงฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง สามารถเพิ่มเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่น ๆ อีกด้วย 
5. คุณค่าด้านความสุนทรีย์ การแกะรูปหนังตะลุง ต้องเป็นคนที่มีความรู้สามารถ ความเข้าใจและความชำนาญในด้านศิลปะเป็นอย่างดี โดยเฉพาะลวดลายไทย ที่ต้องใช้ในการแกะหนัง และสามารถวาดรูปและลงสีให้สวยงามเกิดความสุนทรีย์ในผลิตภัณฑ์ ส่งผลในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกประการหนึ่งด้วย
6. คุณค่าด้านการสร้างจิตนิสัย จากการที่ชาวบ้านได้รวมกลุ่มทำศิลปหัตถกรรมการแกะหนังตะลุง เป็นการรวมกลุ่มกันทำให้เกิดคุณค่าด้านการสร้างจิตนิสัยเกิดความสัมพันธ์กันเป็นสังคมท้องถิ่น ส่งผลให้ชาวบ้านสร้างจิตนิสัยในด้านต่างๆ 6 ด้านได้แก่ ความสามัคคีในกลุ่ม ความอดทน ความมีจิตใจเอื้ออารี ความขยันหมั่นเพียร ความประหยัดและการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
7. คุณค่าด้านการช่วยลดภาวะโลกร้อน ศิลปหัตกรรมการแกะรูปหนังตะลุงสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยเหตุผล ดังนี้
    7.1 ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เป็นการช่วยในการลดการแพร่กระจายของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิดมลภาวะเป็นพิษ ใช้แรงงานจากบุคคลในการผลิต มากกว่าใช้เทคโนโลยี และไม่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ใช้เครื่องมือที่ไม่ใช้พลังงานมาก
    7.2 ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน โดยนำขนวัว ขนควาย เศษหนังที่ไม่ใช้ นำมาทำปุ๋ยแทนการใช้ปุ๋ยชีวภาพ
    7.3 ใช้พลังงานทดแทน โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการตากหนัง
    7.4 การรวมกลุ่มอาชีพ รวมกลุ่มสร้างตลาดผู้บริโภค-ผู้ผลิตโดยตรงในท้องถิ่น เพื่อลดกระบวนการขนส่งผ่านพ่อค้าคนกลางที่ต้องใช้พลังงานและน้ำมันในการคมนาคมขนส่งงานหัตถกรรมไปยังตลาด


บทที่ 5
สรุปผลการศึกษาค้นคว้า

การทำโครงงานเรื่อง ศิลปะพื้นบ้าน ดำเนินการศึกษาค้นคว้าเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่ 1 ศิลปะพื้นบ้านภาคกลาง ตอนที่ 2 ศิลปะพื้นบ้านภาคเหนือ ตอนที่ 3 ศิลปะพื้นบ้านภาคอีสาน ตอนที่ 4 ศิลปะพื้นบ้านภาคใต้ ผลการศึกษาสามารถสรุปผลได้ดังนี้
ตอนที่ 1 ศิลปะพื้นบ้านภาคกลาง
  1.1เครื่องจักสาน ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่าเครื่องจักสานที่สำคัญมีดังนี้ คือ เครื่องจักสานจากไม้ไผ่
                เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นภาชนะ  ได้แก่กระบุง กระจาด กระทาย กระบา กระทอ กระพ้อม กระเชอ กระเช้า กระพอก ชะลอม ตะกร้อ ปุ้งกี๋ หลัว ตะกร้า เข่ง ฯลฯ
             เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องตวง  ได้แก่กระชุ สัด กระบุง ฯลฯ
                เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้ในครัวเรือน  ได้แก่พัด กระชอน ตะแกรง ฝาชี กระด้ง หวด ฯลฯ
              เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องประกอบอาคารบ้านเรือน  ได้แก่ ฝาบ้าน พื้นบ้าน หลังคา ฯลฯ
             เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องจับดักสัตว์และขังสัตว์น้ำ  ได้แก่ ชนาง ลอบ สุ่ม ไซ กระบัง กระจู้ กระชัง ตะข้อง ตะแกรง จั่น ฯลฯ
           และเครื่องจักสานใบลานและใบตาล ได้แก่ ปลาตะเพียนสาน งอบ หมวก เครื่องเล่นเด็กต่างๆ เป็นต้น
1.2 มีดอรัญญิก
                มีดอรัญญิกมีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีดมีความเป็นเลิศมีความทนทานใช้การได้นานนับเป็นปี ๆ บางชนิดใช้งานได้ตลอดชีวิตของผู้ใช้และมีความสวยงามประณีต มีรอบตีทำให้เหล็กแน่นแข็งแรง ตัวมีดคมบางใช้เหล็กอย่างดีทำให้คมมีดไม่แตกหรือบิ่น ด้ามมีดแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ด้ามไม้ใช้ไม้อย่างดีบางด้ามมีการฝังมุกให้สวยงาม ที่สำคัญคือตราที่ประทับบนตัวมีดแสดงให้เห็นว่าเป็นมีดอรัญญิกแท้

1.3 การทำโอ่งมังกร
                ตั้งแต่ พ.ศ.
2476 นายซ่งฮง แซ่เตียและนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง สองสหายที่เคยทำเครื่องปั้นดินเผาที่เมืองป้งโคย ประเทศจีน อพยพมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ได้มาพบแหล่งดิน ที่ จ.ราชบุรีและเห็นว่าเป็นดินที่ใช้ในการปั้นโอ่งได้ จึงเป็นที่มาของโรงโอ่ง"เถ้าแซไถ่"และโรงโอ่ง"เถ้าฮงไถ่"ผลิตโอ่งลายมังกรในเวลาต่อมา"โอ่งราชบุรีทำไมต้องมีลายมังกร" แต่เดิมที่ทำกันเป็นโอ่งที่ไม่มีลวดลายใดๆเรียกว่า "โอ่งเลี่ยน" จากการที่ต้นกำเนิดโอ่งมาจากชายจีน 2 ท่านดังกล่าวเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วลูกหลานจึงได้คัดเลือกลวดลายที่เป็นมงคลขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อผู้ใช้

1.4 การทำขลุ่ย
                วิธีการถ่ายทอดของภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ถ่ายทอดให้เด็กและผู้ที่สนใจในหมู่บ้านและในกลุ่มโดยการบรรยายและสาธิตวิธีการเป่าขลุ่ยถ่ายทอดที่ชมรมผู้สูงอายุบ้านท่าโป่ง
1.5 การทำบาตรพระ
                บ้านบาตรเป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งสืบทอดความรู้การทำบาตรมากว่าสองร้อยปีชุมชนตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด เพราะมีเรื่องเล่ากันหลายที่มา บ้างว่าเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาเดิมที่ย้ายมาตั้งรกรากสมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่
1 บ้างก็ว่าเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา (เช่นกัน) ที่เข้ามากับกองทัพไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจริงในสมัยใดก็ตามชาวบ้านในพื้นที่บริเวณนี้ได้รวมตัวกันสร้างชุมชนรอบคูคลอง (ที่ขุดขึ้นใหม่ในยุคสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง)แบ่งพื้นที่กันไปตามกลุ่มวิชาชีพที่ถนัดสำหรับชุมชนบ้านบาตรเองนั้นรุ่งเรืองขึ้นได้ด้วยใน "ยุคสร้างบ้านสร้างเมือง"ชนชั้นเจ้านายนิยมสร้างวัดกันมาก ชาวบ้านบาตรจึงพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย
1.6 เครื่องปั้นดินเผา
                 เบญจรงค์เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในบ้านขุนนาง หรือเจ้านายชั้นสูงมีมาในสมัยอยุธยา ไม่นิยมนำมาขายตามท้องตลาด เครื่องเบญจรงค์สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยอยุธยา จะมาสิ้นสุดที่ ร
. 5 รูปทรงที่ใช้จะต่างกันไปตามยุคตามสมัย เช่น สมัยอยุธยาใช้ลายเทพนม และลายนรสิงห์ รูปทรงที่ใช้ทรงบัว และทรงมะนาวตัดเป็นต้น
ตอนที่ 2 ศิลปะพื้นบ้านภาคเหนือ
 2.1 เครื่องจักสาน

                วัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวของชาวเหนือ ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคข้าวเหนียวหลายอย่าง เช่น ลังถึงก๋วยซ้าหวด ก่องข้าว กระติบข้าว แอบข้าวขันโตก ฯลฯ เครื่องจักสานเหล่านี้หลายชนิดมีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่น ได้แก่
 ก่องข้าว แอบข้าว เปี้ยด เป็นต้น
2.2 การทำไม้แกะสลัก
                การทำไม้แกะสลักสืบเนื่องมาจากความเชื่อความเชื่อของชาวบ้านประกอบกับประสบการณ์ที่สานต่อมาจากบรรพบุรุษดังนั้นยามว่างชาวบ้านจึงได้คิดจำลองภาพจากแหล่ง ต่างๆและนำมาแกะสลักลวดลายลงบนไม้ เช่นการแกะสลักสิงห์โตเริ่มจากการจำลองภาพจากหนังสือวรรณคดีเรื่องสัตว์ป่า หิมพาน จากนั้นได้หาเศษไม้ รากไม้ที่ไม่ใช้แล้วในหมู่บ้านนำมาแกะสลักจากฝีมือ 
2.3 การทอผ้า
                จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน แสดงให้เห็นหญิงสาวผู้ดีสวมเสื้อแขนยามคล้ายเสื้อคลุมสวมทับเสื้อชั้นในอีกทีหนึ่ง คงเป็นการแต่งกายที่รับแบบอย่างมาจากตะวันตก ทรงผมนิยมไว้ผมยาวเกล้าสูงเป็นมวยไว้กลางศีรษะ รัดเกี้ยวมีปิ่นปัก บางทีดัดจอนผมยาวงอน สตรีชั้นสูงนิยมนุ่งซิ่นไหม ลายขวางสอดดิ้นเงินดิ้นทอง เชิงซิ่นเป็นลวดลายจก แต่ถ้าเป็นโอกาสพิเศษจะนุ่งตีนจก ส่วนการสวมเสื้อแทนผ้ารัดอกหรือผ้าสไบคงเกิดขึ้นภายหลังตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
                นอกจากการทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ในภาคเหนือยังทอผ้าสำหรับใช้สอยอีกหลายอย่าง เช่นผ้าหลบ ผ้าแซงแดง ผ้าแซงดำ ผ้าแหล็บ ผ้ากั้ง ผ้ามุ้ง ผ้าขาวม้า ผ้าล้อ ผ้าปกหัวนาค ย่าม ผ้าห่ม ฯลฯ
                  ผ้าพื้นบ้านภาคเหนืออีกประเภทหนึ่งเป็นผ้าที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ ขนบประเพณีของกลุ่มชน เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ ได้แก่ ตุง หรือธงที่ใช้ในประเพณีต่างๆ เช่น ตุงไจ ตุงสามหาง
ตอนที่ 3 ศิลปะพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  3.1 การทำเครื่องจักสาน

               เครื่องจักสานภาคอีสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวที่สำคัญ คือ ก่องข้าว และกระติบ ในภาคอีสานยังมีเครื่องจักสานที่น่าสนใจอีกหลายอย่างแต่ส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวันก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือเครื่องมือจับและดักสัตว์น้ำเช่น ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหมและการทอผ้า เช่น กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน ได้แก่ เบ็งหมากสำหรับใส่ดอกไม้และเครื่องบูชาต่างๆ และก่องข้าวขวัญสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น
3.2 เครื่องปั้นดินเผา
                การทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานนี้ได้สืบทอดกันมานานหลายชั่วอายุคนโดยไม่ค่อยได้มีการ
เปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก กรรมวิธีการทำได้คงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงทำให้เอกลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาในภาคอีสานยังคงสวยงามเหมือนเก่า
            ดินที่ชาวภาคอีสานใช้ปั้นเครื่องปั้นดินเผานั้นใช้ดินที่อยู่ใกล้ๆ บ้านนำมาผสมกับดินเชื้อ และนิยมนำมานวดบนหนังควาย แต่ปัจจุบันกรรมวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาอาจจะเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนก่อนทำให้ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาแตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงควรอนุรักษ์ลักษณะของเครื่องปั้นดินเผาของภาคอีสานไว้
3.3 การทอผ้า
                “ยามว่างจากงานในนา  ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายจักสาน เป็นคำกล่าวที่สะท้อนให้เห็นสภาพการดำรงชีวิตและสังคมของชาวอีสาน  ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นงานสำคัญของผู้หญิง  ผ้าที่ทอจะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม  ได้แก่ เสื้อ ซิ่น (ผ้านุ่ง) ซ่ง (กางเกง) โสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ เครื่องนอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ที่จะถวายพระในงานบุญประเพณีต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้าพระเวสส์    กระบวนการทอผ้าเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงไหม  ปลูกหม่อน ปลูกฝ้ายสำหรับทอผ้า เริ่มลงมือทอผ้า  ซึ่งมีประเพณีอย่างหนึ่งเรียกว่า ลงข่วง
ตอนที่ 4 ศิลปะพื้นบ้านภาคใต้
 4.1 เครื่องจักสาน
                เครื่องจักสานพื้นบ้านภาคใต้ยังมีอีกหลายชนิด หากแบ่งออกตามวัตถุดิบที่นำมาใช้สาน จะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
         เครื่องจักสานที่ทำด้วยหวาย และไม้ไผ่ มีหลายชนิด ตั้งแต่เครื่องมือดักและจับสัตว์น้ำ ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ กระเชอ จงโคล่โต๊ระ สีหล้า (หรือสี้ละ) เครื่องสีข้าวเซงเลง ข้อง โพง นาง ไซ นั่งได้ นอนได้ และข้องดักปลาไหล เป็นต้น
         เครื่องจักสานที่ทำจากกระจูด ใบลำเจียกหรือปาหนัน เตย ใบตาล ซึ่งนำมาทำเครื่องจักสานประเภทภาชนะและเสื่อมีทำกันในหลายท้องถิ่น
         นอกจากนี้ ยังมีเครื่องจักสานบางชนิดที่ทำด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่เฉพาะบางท้องถิ่นเท่านั้น ได้แก่เครื่องจักสานที่ทำจาก  ต้นคล้า ใบจาก กาบหลาวโอน ย่านลิเภา เป็นต้น
4.2 เครื่องปั้นดินเผา
            ลักษณะการทำเครื่องปั้นดินเผาของภาคใต้แตกต่างไปจากที่อื่นๆ คือมีการใช้แป้นหมุน และการเผาจะไม่เผากลางแจ้งจะใช้เตาเผา จึงทำให้เนื้อแข็งแรง โดยใช้ฟางทำ เราเรียกวิธีนี้ว่า การเผาดาด
             ทางภาคใต้จะหาดินจากบริเวณใกล้เคียงจากแหล่งที่ผลิต และนำดินมานวด ผสมกับทรายที่เป็นลักษณะของภาคใต้โดยเฉพาะ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทางภาคใต้มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาน้อยมาก บางครอบครัวก็พากันเลิกไปกันหมด เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนหันไปใช้อย่างอื่นกันหมด ดังนั้น เราจึงควรให้ความรู้กับผู้ผลิตว่า เราควรจะทำอย่างไรที่จะดึงดูดคนให้ซื้อเครื่องปั้นดินเผาไว้ใช้ โดยยังคงรักษากรรมวิธีการผลิตและรูปแบบคงเดิม
4.3 การทอผ้า
                นอกจากผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น ผ้ายกนครศรีธรรมราช ผ้าพุมเรียง ผ้าบ้านนาหมื่นศรี ผ้าเกาะยอ ยังมีผ้าพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมให้ทอขึ้นใหม่ในหลายจังหวัด เช่น ในจังหวัดพัทลุง กระบี่ ยะลา และปัตตานี  ซึ่งเคยเป็นแหล่งทอผ้ายกที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้ายกปัตตานี ผ้าจวนตานี ที่มีชื่อเสียง จนถึงการทำผ้าปาเต๊ะในจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันการทอผ้าพื้นบ้านเหล่านี้กำลังได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถผลิตได้ในโรงงานอุตสาหกรรม หากแต่ต้องใช้ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่มีฝีมือเท่านั้น
4.4 การทำหนังตะลุง
                การแกะรูปหนังตะลุง เป็นงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมานานหลายร้อยปี วัตถุประสงค์หลักของการแกะรูปหนังตะลุงในอดีตก็เพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงเท่านั้น เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในครอบครัวของตนหรือเรียนรู้ด้วยการฝึกหัด ฝึกฝนเป็นหลัก จากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านของตน ซึ่งการแกะรูปหนังตะลุงนั้นมักจะแกะอยู่ในกรอบของวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งรูปแบบและลวดลาย ที่มีคุณค่าด้านต่าง ๆ มากมาย
ประโยชน์ที่ได้รับ
                1.ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเป็นข้อมูลที่ช่วยให้ทุกคนเห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ไว้
                2.ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์แก่ทุกชุมชนและคนรุ่นหลังต่อไป
ข้อเนอแนะ
                1.ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้านทั้ง 4 ภาคเพิ่มเติมเพื่อให้ได้องค์ความรู้อื่นๆเพิ่มขึ้น
                2.ควรสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ในชุมชนนั้นๆเพิ่มเติม
                3.จากผลการศึกษาค้นคว้าข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่ศิลปะพื้นบ้านในแต่ละภาคหรือในแต่ละชุมชนนั้นปัจจุบันจะสูญหายหมดแล้วเพราะขาดคนที่จะอนุรักษ์เอาไว้ ดังนั้นทุกคนควรจะช่วยกันใส่ใจที่จะอนุรักษ์ศิลปะพื้นเมืองของตนเอาไวให้คนรุ่นหลังได้รู้จักดีกว่าให้พวกเขาเหล่านั้นต้องเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์



1 ความคิดเห็น: